BRICS ขั้วเศรษฐกิจใหม่..ไทยมิอาจปฏิเสธได้.!?
นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อีก 5 ชาติใหม่ อย่างเป็นทางการประกอบด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน,ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อีก 5 ชาติใหม่ อย่างเป็นทางการประกอบด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากสมาชิกเดิม จีน, รัสเซีย, บราซิล, อินเดีย, แอฟริกาใต้
นั่นทำให้ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 10 ประเทศ
การขยายตัวของ BRICS ถือเป็นสัญญาณการแผ่ขยายขั้วอำนาจการเมืองใหม่ ที่กำลังท้าทายพันธมิตรตะวันตกที่มีสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว..!!
สำหรับกลุ่ม BRICS เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2006 (พ.ศ. 2549) จากสมาชิก 4 ชาติ ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน เริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC แต่เมื่อแอฟริกาใต้ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วยช่วงปี 2010 (พ.ศ. 2553) จึงทำให้เกิดชื่อ BRICS ดังกล่าว
ทั้งนี้แต่ละปีกลุ่ม BRICS จะมีการประชุมสุดยอดเพื่อพิจารณาวาระสำคัญ ๆ โดยสมาชิกแต่ละชาติมีสิทธิหมุนเวียนกันเป็นประธานแต่ละปี
ความน่าสนใจของกลุ่ม BRICS คือการมีสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล
เมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้ มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรประมาณ 3,500 ล้านคน หรือประมาณ 45% ของประชากรโลก
หากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก และที่สำคัญคือประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดโลกประมาณ 44% อีกด้วย
การประชุมกลุ่ม BRICS ช่วง 22-24 ส.ค. 66 (เป็นอีกหนึ่งการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจปี 2566) หลังจากมีการประชุมผู้นำกลุ่ม G7 มีสาระสำคัญ 3 ประเด็นหลัก
1)จุดยืน BRICS เรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่ชี้ชัดว่าความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ด้วยขนาดเศรษฐกิจและจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น ยิ่งเสริมบทบาทของกลุ่มในเวทีโลกอย่างน่าสนใจ
2)การเดินหน้าผลักดันใช้สกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่อง และเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตั้งแต่รัสเซียถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร อีกทั้งหลายประเทศเกิดใหม่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (BRICS Bank) ที่มีบทบาทใกล้เคียง World Bank และข้อตกลงกองทุนสำรองฉุกเฉิน (CRA) ที่มีบทบาทใกล้เคียงกับ IMF นั่นเอง
3)การรับสมาชิกใหม่สะท้อนถึงความน่าสนใจของกลุ่ม ที่ถือเป็นอีกทางเลือกของเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มาจากภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นยิ่งขึ้น
สำหรับ “ประเทศไทย” มีการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ต้นปี 2566 แต่อยู่ระหว่างรอการพิจารณา หัวใจของการเข้าเป็นสมาชิกหลัก ๆ คือ การรักษาสมดุลของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ
ข้อดีของไทย ถือเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญในแต่ละทวีปของโลก แต่ข้อควรระวัง รัฐบาลไทย ต้องรักษาท่าทีการรับข้อตกลงใหม่ ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อคู่ค้าฝั่งชาติตะวันตก จนอาจนำมาซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่าง ๆ เพิ่มเติมได้
แต่อย่างไรก็ดีการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของไทย ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ออกมาจากขั้วเศรษฐกิจดั้งเดิม..สู่ทางเลือกหลากหลายมากขึ้น
มิเช่นนั้นแล้ว..ไทยอาจต้องไร้ที่ยืนบนสังเวียนการค้าโลกก็เป็นได้..!!??