ค่าไฟที่เป็นธรรมตรงไหน?
การลดค่าไฟฟ้า ประชาชนชอบและใครก็ชอบ แต่หากถามว่าลดกันแบบไหน ถาวรยั่งยืนไหม หรือสุกเอาเผากิน และก่อปัญหาอื่นยุ่งยากตามมาไหม ผมก็ว่าน่าไตร่ตรองกันให้ดี
การลดค่าไฟฟ้า ประชาชนชอบและใครก็ชอบ แต่หากถามว่าลดกันแบบไหน ถาวรยั่งยืนไหม หรือสุกเอาเผากิน และก่อปัญหาอื่นยุ่งยากตามมาไหม ผมก็ว่าน่าไตร่ตรองกันให้ดี
ยังไม่เคาะกันสักที ค่าไฟงวดใหม่ในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 นี่สัปดาห์แรกของเดือน ผ่านพ้นมาแล้ว ยังพอมีเวลาอีกสัก 1-2 สัปดาห์ที่คณะรัฐมนตรีจะต้องอนุมัติเห็นชอบโครงสร้างราคาค่าไฟใหม่ ซึ่งราคาจะเป็นเท่าไหร่ คงต้องลุ้นกัน
แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางไว้แล้ว ราคาไม่น่าจะเกิน 4.20 บาท/หน่วยหรือต่ำกว่า
ผมว่า ก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะขณะนี้ รัฐบาลมีเงินตุนไว้แล้วจากค่าปรับการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของปตท. จำนวน 4,300 ล้านบาท
ซึ่งอันนี้ ผมไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่ เพราะไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ปตท.รวมทั้งผู้ถือหุ้นปตท. เนื่องจากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณของปตท.สผ.ถึง 2 ปี โดยเป็นผลมาจากความล้มเหลวในการเจรจาระหว่างกระทรวงพลังงานกับเชฟรอน ผู้รับสัมปทานเดิม
นอกจากนี้ ก็ยังจะมีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ จากเดิมใช้ราคา Gulf Gas (ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเท่านั้น) มาเป็นราคา Pool Gas (เฉลี่ยจากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว LNG) ซึ่งโฆษกกระทรวงพลังงานอวดอ้างว่าจะลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 11.5 สตางค์/หน่วย
“Gulf Gas” นั้นมีราคาถูกกว่า “Pool Gas” เฉลี่ยราคาในปัจจุบันอยู่ที่ 5-6 เหรียญสหรัฐ/1 ล้านบีทียูเท่านั้น ในขณะที่ “พูล แก๊ส” มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8-9 เหรียญฯ/1 ล้านบีทียู ต่างกันอยู่ 60-80%
เมื่อนำราคาพูลมาเป็นต้นทุนเข้าโรงงงานแยกก๊าซ ผลิตภัณฑ์อันเกิดจากการแยกก๊าซทั้งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและภาคปิโตรเคมี รวมทั้งเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือน (LPG) ก็ต้องได้รับผลกระทบที่ต้องขายออกในราคาพูลตามกันไปด้วย จะไปแยกขายออกตามประเภทผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร?
ในกระบวนการของโรงแยกก๊าซนั้น จะแยกก๊าซได้เป็นลำดับดังนี้ 1) มีเทน (C1) สัดส่วน 25% เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและนำไปอัดความดันสูงหรือ NGV ในรถยนต์ 2) อีเทน (C2) สัดส่วน 25% นำไปผลิตเม็ดพลาสติก และเส้นใยพลาสติกชนิดต่าง ๆ 3) ก๊าซโปรเทน (C3) และ 4) ก๊าซบิวเทน (C4) เมื่อนำมารวมกันจะได้ LPG 50%
คำถามคือ คุณต้องการให้มีเทน 25% และ LPG 50% เพิ่มต้นทุนจากการปรับโครงสร้างใหม่ และขายออกไปจากโรงแยกก๊าซในราคาที่สูงตามไปด้วยหรือไม่
ผลลัพธ์มันไม่เกิดตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ค่าไฟราคาถูกลงหรอก!
เช่นเดียวกับแนวคิดกลุ่ม NGO หรือแนวคิด “คุณไหม” ศิริกัญญา ที่ต้องการจะลงโทษภาคปิโตรเคมี ที่มาใช้ก๊าซอ่าวไทยราคาถูก โดยเอาก๊าซอ่าวไทยไปเข้าโรงไฟฟ้าทั้งหมด ก็ไม่น่าจะถูกต้องเช่นกัน
เสมือนเอาไม้สักทำฟืน โครงสร้างอุตสาหกรรมเคมีของประเทศคงพังพินาศ ตลอดจนก๊าซหุงต้ม LPG ถึง 50% ก็จะถูกเผาทำลายไปด้วย
ทางแก้มันมีครับ ไม่ใช่แก้ปัญหาหนึ่งเช่นค่าไฟ แล้วไปก่อปัญหาอื่น อันเป็นการก่อปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด และยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งพัลวันเป็นลิงแก้แห
วันนี้ก็ต้องเร่งเพิ่มปริมาณขุดเจาะก๊าซอ่าวไทย และแหล่งเพื่อนบ้านให้มากขึ้น เพื่อลดการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพง รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟจากพลังน้ำ ซึ่งมีต้นทุนต่ำสุดและเป็นพลังงานสะอาด