สามมายาคติของธุรกิจพลังงานไทย
มีความเข้าใจผิดโดยทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานของไทยที่แก้อย่างไรก็แก้ไม่หายเรียกว่าเป็นมายาคติ (myts) อยู่ 3 เรื่อง
มีความเข้าใจผิดโดยทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานของไทยที่แก้อย่างไรก็แก้ไม่หายเรียกว่าเป็นมายาคติ (myts) อยู่ 3 เรื่อง
1.ความเข้าใจผิดว่าปั๊มน้ำมัน ปตท.ภายใต้บริษัท OR เป็นธุรกิจผูกขาดตลาดน้ำมัน ความจริงก็คือปตท.มีปั๊มประมาณ 1,800 ปั๊มจากปั๊มน้ำมัน 35,000 ปั๊มทั่วประเทศ โดยปตท.กินส่วนแบ่งการตลาดไม่เกิน 40% โดยปั๊มปตท.ส่วนใหญ่อยู่บนถนนสายหลัก สัดส่วนไม่เกิน 40% ของปริมาณน้ำมันค้าปลีกในตลาด
สัดส่วนน้ำมันค้าปลีกไม่เกิน 40% ดังกล่าวถือว่าเป็นสัดส่วนยุทธศาสตร์ทางการตลาดเพื่อที่จะทำให้ปตท. เป็นผู้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในตลาดจากการขึ้นราคาทีหลังสุดและลงราคาก่อนปั๊มอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่ง ทำให้มาร์จิ้นทางการตลาดค้าปลีกน้ำมันของประเทศไทยเหลือเพียง 1.50 บาท ซึ่งเป็นมาร์จิ้นที่ต่ำที่สุดในโลก เหตุผลดังกล่าวคือนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างปตท.ลงมือสร้างอำนาจต่อรองเหนือตลาด ซึ่งมาตรการที่ดำเนินการอยู่ถูกข้อโจมตีว่าเป็นการผูกขาดตลาดน้ำมันค้าปลีกโดยปริยาย เป็นเหตุผลที่บริษัทน้ำมันต่างชาติอย่างคาลเท็กซ์และเชลล์ต้องลดจำนวนปั๊มลงเหลือเพียงไม่เกิน 300 ปั๊มทั่วประเทศ โดยเอสโซ่ของบริษัทเชฟรอนแห่งอเมริกาประกาศถอนตัวออกจากตลาดไทย
การกระทำของปตท.ในตลาดน้ำมันนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับธุรกิจผูกขาดตลาดน้ำมันค้าปลีกโดย 3 ยักษ์ใหญ่ที่อาศัยมือของสัมพันธมิตรเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2488 ที่ยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยที่แพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่นยอมรับกติกาการผูกขาดน้ำมันของ 3 ยักษ์ใหญ่ประกอบด้วยเอสโซ่และคาลเท็กซ์จากอเมริกา กับเชลล์จากอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ได้ทำการผูกขาดตลาดน้ำมันโดยให้ทั้ง 3 บริษัทนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์โดยตรงขณะที่คู่แข่งจะต้องซื้อน้ำมันต่อจาก 3 บริษัทนี้เท่านั้น
การผูกขาดน้ำมันจาก 3 บริษัทต่างชาติดำเนินการมาจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2516 เมื่อเกิดวิกฤติราคาน้ำมันครั้งแรกของโลกจนรัฐบาลต้องขอตั้งปตท.ขึ้นเพื่อพยายามเข้าแทนที่ปั๊มน้ำมัน 3 ทหารที่ก่อตั้งขึ้นมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์และตกเป็นเบี้ยล่างของ 3 ยักษ์ใหญ่ต่างชาติมาโดยตลอดต้องอาศัยกฎหมายพิเศษที่บังคับให้รถราชการใช้น้ำมันจากปั๊มสามทหารเท่านั้น
ยุคอันยิ่งใหญ่ของปตท.ที่เกิดขึ้นมาผ่านความยากลำบากจนสามารถครอบงำราคาน้ำมันค้าปลีกได้อาจจะทำให้ผู้คนลืมข้อเท็จจริงอันน่าเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ 3 ยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่ผูกขาดตลาดน้ำมันค้าปลีกในเมืองไทย
การที่ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยราคาแพงก็เนื่องมาจากกลไกการบริหารภาครัฐที่มีการเรียกเก็บภาษีแวต (Vat) ถึง 2 ครั้งคือ ที่หน้าโรงกลั่นและที่หน้าปั๊มน้ำมัน ไม่ใช่ปตท.เป็นผู้กระทำแต่อย่างใด
2.มายาคติที่ว่าประเทศไทยมีแหล่งสำรองน้ำมันดิบใต้ดินมากกว่า 30 เท่า ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่ง NGO ไทยเชื่ออย่างหัวปักหัวปำว่าเป็นจริง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วปริมาณแหล่งสำรองของฟอสซิลมีอายุยังไม่ถึงและยังต้องใช้เวลาบ่มหมักอีกแสนถึงล้านปีกว่าจะเป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบได้
3.มายาคติที่บอกว่าราคาค่าไฟฟ้าที่พุ่งขึ้นเกือบ 5 เท่าตัวในปีที่ผ่านมาเกิดจากการรับซื้อก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวของโรงงานผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วตรงข้ามกัน กล่าวคือก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นก๊าซแบบเปียก (Wet gas) ที่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานปิโตรเคมี ไม่ได้นำมาเผาทิ้งในฐานะแหล่งพลังงานไฟฟ้าแต่อย่างใด มีเพียง 2 โรงงานไฟฟ้าเท่านั้นที่ใช้ก๊าซแห้ง (Dry gas) เป็นวัตถุดิบคือโรงงานไฟฟ้าราชบุรีและโรงงานไฟฟ้าที่จะนะ โดยโรงงานไฟฟ้าราชบุรีรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุนนอกเมืองเมาะตะมะ ส่วนโรงงานไฟฟ้าจะนะรับก๊าซธรรมชาติจากเขตรอยต่อไทย-มาเลเซีย ซึ่งจะเห็นได้ว่าแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากทั้ง 2 โรงนี้ผลิตไฟฟ้าได้ไม่ถึง 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศไทย จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่คณะกรรมการกำหนดค่าไฟฟ้าจะขึ้นราคาค่าไฟจากประชาชนสูงถึงเกือบ 5 เท่าโดยการอ้างค่า FT ซึ่งถ้าจะกล่าวโทษจริง ๆ ต้องโทษหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่มัดมือชกประชาชน
สามมายาคติของธุรกิจพลังงานไทยที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกนาน