พาราสาวะถี
ชัดเจนแล้วว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่สั่งเบรกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่ เศรษฐา ให้สัมภาษณ์นักข่าวได้รับคำตอบมาแล้วไม่มีข้อติดขัด
ชัดเจนแล้วว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่สั่งเบรกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่ เศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์นักข่าวได้รับคำตอบมาแล้วไม่มีข้อติดขัด แต่มีข้อเสนอแนะและขั้นตอนที่ต้องไปทำต่อ แน่นอนว่า ประเด็นสำคัญคือ การออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เมื่อได้รับไฟเขียวเช่นนี้ ก็ไม่น่ามีปัญหา กระบวนการร่างกฎหมายก็ทำให้รอบคอบ รัดกุม แล้วส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบตามขั้นตอน แต่ที่จะทำให้การออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินต้องถูกซักถามอย่างหนักคือ คำว่าวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศมากพอที่จะมีน้ำหนักเพื่อออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวหรือไม่
การทวีตข้อความผ่าน X ของเศรษฐา ตำหนิการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าสวนทางกับภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบติดต่อกันหลายเดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอีด้วย เหมือนจะเป็นการตอกย้ำว่ามุมมองทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติไม่น่าจะตรงกัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการคลอดร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อเดินหน้าโครงการสำคัญดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่เป็นการเรียกร้องให้แบงก์ชาติทบทวนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น ก่อนหน้าเศรษฐาก็บอกกับสื่อระหว่างรอคำตอบจากกฤษฎีกาว่า การออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นไปตามคำแนะนำของผู้ว่าฯ ธปท. นั่นหมายความว่า เมื่อความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลไฟเขียวให้ทำได้แล้ว จะมีเหตุอันใดที่หน่วยงานที่ดูแลด้านการเงินของประเทศจะยกมาอ้างเพื่อขวางโครงการนี้ของรัฐบาลอีก
พิจารณาตามหน้าเสื่อ มองแนวโน้มจากความเป็นคนกล้าที่จะพูด พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนหรือภาษาวัยรุ่นหน่อยก็บอกว่าพร้อมบวก เชื่อว่าเศรษฐาน่าจะสามารถโน้มน้าวให้ฝ่ายที่ทักท้วงปล่อยผ่าน แรงหนุนสำคัญไม่ใช่เสียงของประชาชนที่อยากได้เงินดิจิทัลหมื่นบาท แต่เป็นภาคเอกชนระดับบิ๊กทั้งหลายที่เห็นว่าก่อประโยชน์มหาศาลทางเศรษฐกิจ เมื่อผู้มีพลังทางสังคมในฐานะชนชั้นอีลิทที่มีอิทธิพลต่อภาคการเมืองหนุนหลัง มันจึงเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างแน่ชัดว่า ยังไงก็ได้ลุยดิจิทัลวอลเล็ตพิสูจน์ฝีมือแน่สำหรับรัฐบาลเพื่อไทย
ความมั่นใจดังว่าไม่ได้สะท้อนผ่านแค่การเตรียมตัวปักหลักนอนทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลของเศรษฐาเท่านั้น บรรดารัฐมนตรีคนสำคัญของพรรคแกนนำรัฐบาลที่มีหัวโขนเป็น สส.บัญชีรายชื่อก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะทิ้งเก้าอี้ฝ่ายนิติบัญญัติ มุ่งหน้าทำงานฝ่ายบริหารเพียงด้านเดียว อันเป็นการการันตีว่า รัฐบาลนี้อยู่ยาว และตำแหน่งเสนาบดีของผู้ที่ไขก๊อกจาก สส.นั้นก็แข็งแกร่งยืนระยะตามอายุของรัฐบาลเศรษฐาด้วย
โดย 3 จาก 6 รัฐมนตรีที่เป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งประกาศลาออกแน่นอนคือ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่อีก 3 คนที่เหลือ น่าจะต้องรอประเมินผลการทำงานและรอสัญญาณจากการปรับ ครม.ว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ ได้แก่ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
จะว่าไปก็ถือเป็นสูตรสำเร็จของเพื่อไทยเหมือนกัน สำหรับคนที่ได้เป็นรัฐมนตรีและมีแนวโน้มว่าได้อยู่ยาว ที่ต้องเสียสละเก้าอี้ สส.เพื่อให้คนของพรรคที่อยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อต่อไปได้เข้ามามีหัวโขนและแสดงบทบาททางการเมือง โดยในรอบนี้หลังการไขก๊อกของทั้งสามคน ผู้ที่จะได้ขยับขึ้นมาเป็น สส.คือบัญชีรายชื่อลำดับที่ 32 ถึง 34 ได้แก่ ละออง ติยะไพรัช อดีต สส.เชียงราย ที่ยอมทิ้งการลงสมัคร สส.เขตมาเป็นปาร์ตี้ลิสต์ เนื่องจากจำนวน สส.ของเชียงรายถูกปรับลดลง
คนต่อมาคือ ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลูกชาย สาโรจน์ หงษ์ชูเวช อดีตผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย โดยหากเลือกที่จะเป็น สส.ก็จำเป็นต้องสละเก้าอี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีไป ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา เพราะคนของพรรคที่รอเสียบมีอยู่แล้ว รายสุดท้ายคือ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ลูกชาย เกษม รุ่งธนเกียรติ อดีต สส.คนดังจากสุรินทร์ เป็นอีกคนที่การได้หัวโขน สส.ต้องแลกกับการเสียตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ ไป
ทั้งนี้ การบริหารเก้าอี้ทางการเมืองภายในพรรคนายใหญ่ภายใต้การกุมบังเหียนของ แพทองธาร ชินวัตร นั้น ว่ากันว่าไม่มีปัญหาน่าหนักใจเหมือนยุคผู้เป็นพ่อ ที่มีหัวโขนทั้งความเป็นนายกฯ และหัวหน้าพรรคการเมือง จึงทำให้เผชิญกับการต่อรองของกลุ่มมุ้งต่าง ๆ อย่างหนักหน่วง ขณะที่เวลานี้ เมื่อฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และพรรคการเมือง แยกส่วนกันทำหน้าที่อย่างชัดเจน และต้องการความแข็งแกร่งเพื่อเป้าหมายเลือกตั้งครั้งหน้า จึงทำให้บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายไม่กล้าที่จะเบ่งกล้ามโชว์เหมือนในอดีต
เช่นเดียวกันกับข่าวคราวการปรับ ครม. อุ๊งอิ๊งยืนยันเอง “ไม่มีชื่อแน่นอน” ตรงนี้วงในพรรคนายใหญ่ย้ำว่าเป็นไปตามนั้น เพราะยังไม่ถึงเวลา ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร มีความสุขกับการได้แสดงบทบาทผ่านความเป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่ยังได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติด้วย จึงเป็นเวทีที่ได้โชว์ความสามารถในการบริหาร และแสดงวิสัยทัศน์อย่างเต็มที่
การที่ถูกกระแนะกระแหนว่าพรรคแกนนำรัฐบาลคือ “เพื่อไทยการละคร” ตอนนี้น่าจะเป็นเช่นนั้น โดยแบ่งบทให้เศรษฐาไปเดินหน้าทางด้านฝ่ายบริหาร ผลิตผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ส่วนพรรคก็จะผลิตนโยบายให้ประชาชนสัมผัสจับต้องได้ ใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่เพื่อซื้อใจกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่เปิดใจรับ พร้อมกับการแย่งฐานเสียงเดิมที่เคยถูกพรรคก้าวไกลช่วงชิงไปกลับคืนมา การเมืองยุคเปลี่ยนแปลงพิสูจน์ให้เห็นผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้วว่า มีอำนาจแต่ไร้ผลงานไม่ช่วยให้ได้เปรียบแต่อย่างใด