90 วันองศาเดือดทายท้าวิชามาร
ปี 2558 นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยสุทธิ 1.54 แสนล้านบาท รวม 3 ปี 4.3 แสนล้านบาท ได้ข่าวนักวิเคราะห์, โบรกเกอร์ คาดหวังต่างชาติจะกลับมาใหม่กลางเดือนมีนาคม ฟังแล้วก็ขำ ผมไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจโลกหรอก แต่ถ้าเอาเฉพาะการเมืองไทย ฟันธงได้ว่า 3 เดือนจากนี้ไปคือช่วงสถานการณ์อ่อนไหว ที่ยังไม่มีใครรู้จะออกรูปไหน ดีหรือร้าย แต่มีผลกระทบเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้
ใบตองแห้ง
ปี 2558 นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยสุทธิ 1.54 แสนล้านบาท รวม 3 ปี 4.3 แสนล้านบาท ได้ข่าวนักวิเคราะห์, โบรกเกอร์ คาดหวังต่างชาติจะกลับมาใหม่กลางเดือนมีนาคม ฟังแล้วก็ขำ ผมไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจโลกหรอก แต่ถ้าเอาเฉพาะการเมืองไทย ฟันธงได้ว่า 3 เดือนจากนี้ไปคือช่วงสถานการณ์อ่อนไหว ที่ยังไม่มีใครรู้จะออกรูปไหน ดีหรือร้าย แต่มีผลกระทบเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้
เพราะภายใน 3 เดือน กรธ.ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปทำประชามติ ตามโรดแมพ 6-4-6-4 เริ่มจากเดือนมกราคมก็เห็นร่างแรก ซึ่งส่อเค้าว่าจะกระตุ้นอุณหภูมิร้อนแรงทันใด เพราะ กรธ.คิดไม่ต่างกับ กมธ. ต้องการให้มี “องค์กรแก้วิกฤติ” มีอำนาจพิเศษล้มล้างรัฐบาลจากเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องทำรัฐประหาร พูดอีกอย่างคือ “เขียนอำนาจรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ”
นี่ยังไม่นับเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งเขียนไปๆ กลับไม่เป็นที่ยอมรับยิ่งกว่า กมธ. เช่น ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว วุฒิสภาสรรหากันเอง
ก่อนครบ 3 เดือน คสช.ยังต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อระบุว่าถ้าประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร จะยกร่างใหม่หรือจะเอาฉบับไหนมาใช้
แต่คำถามสำคัญไม่ใช่ประชามติผ่านหรือไม่ผ่าน คำถามสำคัญคือ คสช.จะเปิดให้ทำประชามติได้ไหม จะทำอย่างไร ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นทุกขณะ
ปี 2558 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจงใจหรือไม่จงใจ คสช.ซึ่งเคยประกาศ “ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ไล่ล่าจองล้างใคร” ก็ถลำเข้าไปในวังวนความขัดแย้งเรียบร้อยแล้ว เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ สนช.ถอดถอนยิ่งลักษณ์ อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง มาถึงปลายปีที่จะเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ซ้ำยังปิดท้ายปีด้วย ป.ป.ช.ชี้มูลคดี 99 ศพ สุเทพ-อภิสิทธิ์ ไม่มีความผิด
นี่ยังไม่นับความขัดแย้งกับผู้รักเสรีภาพ นักสิทธิมนุษยชน นักศึกษาประชาชน “พลเมืองโต้กลับ” “ประชาธิปไตยใหม่” ซึ่งกลายเป็นหัวหอกที่มีพลังยิ่งกว่า นปช.
ขณะที่ คสช.ก็ “สะดุดขาตัวเอง” กรณีอุทยานราชภักดิ์ แม้พยายามปิดประเด็นส่งท้ายปี แต่ยังไม่สามารถเคลียร์คัท
สถานการณ์วันนี้ถ้าย้อนเทียบปีใหม่ 2559 ต่างกันสิ้นเชิง คสช.ถลำเข้ามาอยู่ในความขัดแย้งที่ทำให้ลงจากหลังเสือยากขึ้นทุกขณะ ยิ่งอยู่นานยิ่งกระทบกระทั่ง ไม่เห็นทางผ่อนคลายเพื่อลงจากอำนาจ
ฉะนั้นจึงน่าคิดว่า คสช.จะตัดสินใจอย่างไร ถ้าเดินหน้าสู่ประชามติ ก็แน่นอนว่าถ้าเปิดให้รณรงค์เห็นด้วยคัดค้าน ก็จะมีทั้งกองเชียร์และคนต่อต้านอย่างกว้างขวาง เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจคุมไม่อยู่ แต่ถ้าไม่ยอมให้รณรงค์ จะเรียกว่าทำประชามติได้อย่างไร ทำแล้วแพ้ จะอยู่อย่างไร ทำแล้วชนะ ก็ใช่ว่าสงบ
หรือ คสช.จะทำประชามติใบ้ไม่ยอมให้รณรงค์ ก็ย่อมได้ หรือ คสช.จะเปลี่ยนใจไม่ทำประชามติ ก็ย่อมได้ หรือ คสช.บอกไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญปู่มีชัย จะอยู่ต่อร่างใหม่ ก็ย่อมได้ แต่ไม่ว่าทางไหน แรงเสียดทานจะหนักหน่วงขึ้น
4 เดือนหลังปรับ ครม. ตั้ง “ทีมสมคิด” กระตุ้นเศรษฐกิจ ดูเหมือนได้ผล เพราะอยู่บนภาพลวงตา “การเมืองนิ่ง” ในช่วงเริ่มต้นโรดแมพใหม่ แต่ถ้าโรดแมพสะดุดเมื่อไหร่ มองไม่เห็นทางกลับสู่เลือกตั้ง ไม่เห็นทางออกจากวิกฤติ กระตุ้นเศรษฐกิจไปก็ไลฟ์บอย