พาราสาวะถี
เดินหน้าทำงานมาขนาดนี้ ไม่มีทางที่จะยี่หระต่อการขู่ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153
เดินหน้าทำงานมาขนาดนี้ ไม่มีทางที่จะยี่หระต่อการขู่ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ที่พวกลากตั้งตัวตึงขาประจำทั้งหลายรวมหัวกัน จะชำแหละรัฐบาลทิ้งทวนก่อนจะหมดอำนาจ เศรษฐา ทวีสิน บอกเป็นสิทธิที่จะทำได้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลก็มีหน้าที่ไปตอบ สงสัยอะไรก็ถามมาตนและคณะรัฐมนตรียินดีชี้แจง ส่วนที่ว่าเพิ่งทำงานมาได้ 4 เดือนเท่านั้น ต้องยอมรับในความเป็นตัวของตัวเองของท่านผู้นำ จะกี่วันก็ต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบเพราะอาสามาทำงาน
ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น คงต้องมาดูขั้นตอนของการเข้าชื่อเพื่อยื่นอภิปรายดังกล่าวก่อนที่จะต้องใช้เสียงของพวกลากตั้ง 1 ใน 3 หรือ 84 คนเพื่อยื่นญัตติ ตรงนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งเรื่องของสังกัด หรือเด็กจากสายของฝ่ายอำนาจเก่า หลังจากที่ก่อนหน้านั้นในการลงมติเลือกเศรษฐาเป็นนายกฯ เด็กในคาถาของน้องเล็กเทคะแนนให้เป็นกอบเป็นกำ ส่วนคนของพี่ใหญ่พร้อมใจกันงดออกเสียง อย่างที่รู้กันเมื่ออำนาจเปลี่ยนมือกลุ่มอำนาจใหม่ก็เร่งกระชับอำนาจกันเต็มที่
สิ่งที่จะตามมาหลังจากที่เริ่มตั้งต้นล่ารายชื่อกันก็คือ ข่าวปล่อยเรื่องการล็อบบี้แจกกล้วยให้พวกลากตั้งเพื่อไม่ให้เสียงถึงเกณฑ์ ไม่ใช่ต้องการหนีการซักฟอก แต่ต้องการหักหน้าทำให้พวกตัวตึงทั้งหลายได้สำนึกว่าหมดเวลาของพวกเอ็งแล้ว ความจริงการที่มีพวกลากตั้งบางรายอ้างว่าการยื่นญัตติครั้งนี้ถือเป็นหน้าที่ของพวกตนในฐานะตัวแทนของประชาชน อยากจะหัวร่อมีจุดยึดโยงผ่านการเลือกจากคนส่วนใหญ่มาตรงไหน มากไปกว่านั้นยุคของรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่เห็นฟิตกันขนาดนี้
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา แต่ลุยงานหนักขนาดนี้แล้วเศรษฐาไม่ได้กลัวอยู่แล้ว ประเด็นที่จะหยิบยกมาซักฟอกทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มันก็เป็นเรื่องของการหวงอำนาจ กอดรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงแต่สร้างปัญหาให้บ้านเมืองไว้เท่านั้น ขณะที่การกู้เพื่อจะเติมเงินเข้ากระเป๋าประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าไม่มีปัญหา แล้วรัฐบาลสามารถแจกแจงได้ ที่สำคัญคือคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ คงจะหาคนคล้อยตามน้ำลายพวกลากตั้งตัวตึงทั้งหลายได้ยาก
สำหรับความเห็นของกฤษฎีกาฟังจากที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังให้สัมภาษณ์ ไม่น่าจะมีอะไรติดขัด เพราะคำตอบที่ได้มีทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ โดยประเด็นหลักคือ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งในมาตรา 53 นั้น ระบุไว้ว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ
และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน กฎหมายที่ตราขึ้นต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงิน ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
เมื่อยึดตามเนื้อหาของมาตราดังกล่าว การจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ซึ่งรัฐบาลเศรษฐาก็ได้ย้ำมาตลอดว่าเป็นเช่นนั้น และจำเป็นที่จะต้องได้รับการกระตุ้น ดังนั้น การที่ถือเป็นภาระหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง รวมไปถึงคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่จะต้องไปดำเนินการให้ครบถ้วน เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา ก่อนส่งต่อให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบ
สำหรับมาตรา 57 ระบุว่า การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระทําได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดําเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว ตรงนี้จึงไม่ใช่ข้อติดขัดเหมือนที่เศรษฐาว่า ที่กฤษฎีกามีคำแนะนำอีกเรื่องคือ ให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ดูแล้วรัฐบาลน่าจะใช้กลไกของคณะกรรมการนโยบายฯ ในการดำเนินการเรื่องนี้
จะต้องเป็นการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกฯ เป็นประธาน แล้วเชิญทุกฝ่ายมาให้ความเห็น และขอเป็นมติ สิ่งสำคัญแนวทางที่รัฐบาลเตรียมไว้คือ จะให้ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการนโยบาย มานำเสนอต่อที่ประชุมให้ทุกคนทราบถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสรุปให้ที่ประชุมฟังว่าในความเห็นนั้น ๆ มีความหมายอย่างไร และควรจะดำเนินการแบบไหน
ปัจจัยสำคัญคือ ตามกระบวนการดังว่า จะทันเวลาที่รัฐบาลได้ขีดเส้นเริ่มโครงการในเดือนพฤษภาคมนี้หรือไม่ โดยเจตนารมณ์คนส่วนใหญ่เชื่อว่า นโยบายนี้เพื่อไทยมองเป็นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยกลับไปสู่ระดับการเติบโตที่เต็มศักยภาพ หากขั้นตอนของคณะกรรมการฯ ไม่ช้า ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรก็เชื่อว่าจะเร็ว แต่พวกลากตั้งจะพร้อมหนุนเต็มที่หรือไม่ นี่คือเครื่องหมายคำถามตัวโต
อย่างไรก็ตาม แกนหลักของพรรคแกนนำรัฐบาลต่างเชื่อมั่นว่าจะไม่มีอะไรทำให้สะดุด ไม่ได้มั่นใจเพราะ 314 เสียงที่แข็งแรงเท่านั้น หากแต่ยังมีเสียงของประชาชนที่รอโครงการนี้อยู่ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้นแรงหนุนจากกลุ่มพลังอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลเหนือการเมืองถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ถือว่ารัฐบาลเศรษฐากำลังเดินไปในทิศทางบวกที่ยังมองไม่เห็นสัญญาณเจอทางตันแต่อย่างใด