Shrinkflation กลยุทธ์ลักหลับลูกค้า.!?

ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทย ปัญหาเรื่อง “เงินเฟ้อ” กลายเป็นความกังวลต่อต้นทุนการใช้ชีวิตแต่ละคนที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ยังเท่าเดิม


ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทย ปัญหาเรื่อง “เงินเฟ้อ” กลายเป็นความกังวลต่อต้นทุนการใช้ชีวิตแต่ละคนที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ยังเท่าเดิมหรืออาจถดถอยลง และนั่นจึงกลายเป็นช่องว่างทำให้เกิดภาวะ Shrinkflation อันเป็นเทคนิคที่บรรดาผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ใช้เพื่อการอยู่รอดช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้วยวิธีการ “ลดขนาดสินค้าแต่ราคาคงเดิม” ที่บรรดาลูกค้าแทบไม่รู้ตัวเลย

สำหรับ Shrinkflation เกิดจากการรวมกันของคำว่า Shrink หรือการหดตัว และคำว่า Inflation หรือการพองตัว อันหมายถึง “เงินเฟ้อ” หรือภาวะที่ราคาสินค้าหรือบริการปรับเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

นั่นจึงทำให้คำว่า Shrinkflation หมายถึงการลดขนาดผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิต ท่ามกลางสภาวะที่บริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นและถึงจุดต้องส่งต่อต้นทุนเหล่านี้ไปยังผู้บริโภค 

เรียกว่า Shrinkflation คือ เทคนิคหรือกลยุทธ์หนึ่งการคงกำไรให้ธุรกิจด้วยวิธี “ลดปริมาณสินค้า” แต่ว่า “ขายสินค้าราคาเท่าเดิม” ถือเป็นสภาวะสะท้อน เงินเฟ้อ อีกรูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น เพราะแม้จะจ่ายเท่าเดิม แต่ก็ได้สินค้าน้อยลงกว่าเดิม..!! 

มองเชิงกลยุทธ์การตลาด การใช้เทคนิค Shrinkflation เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่แบรนด์ต่าง ๆ เลือกใช้ เพราะส่งผลกระทบกับความรู้สึกลูกค้า และการตัดสินใจซื้อน้อยกว่าการประกาศขึ้นราคา เพราะการลดปริมาณลง ผู้บริโภคอาจไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงมากนัก หรืออย่างน้อยสุด แม้รู้ว่าปริมาณลดลงบ้าง แต่ตราบใดที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ลูกค้าส่วนใหญ่ยังพอรับกันได้

“อิปซอสส์” (Ipsos) ผู้นำด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ผู้ให้บริการงานวิจัยครบวงจรระดับโลก มีการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคต่อเนื่อง 29 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จำนวน 6,000 ตัวอย่าง อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

รายงานการวิจัยเรื่อง What worries Thailand ช่วงครึ่งปี 2566 และแนวโน้มจะเกิดขึ้นปี 2567 ผลสำรวจพบว่าภาวะเงินเฟ้อ เป็นความกังวลสูงสุดของประชากรโลกและต่อเนื่องมายาวนาน 20 เดือน เป็นประเด็นกังวลที่คงอยู่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ “อิปซอสส์” เคยทำการศึกษามา..!!

สำหรับมุมมองด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยที่กระทบสูงสุด คือ ภาวะเงินเฟ้อ ผู้คนต้องสู้กับภาวะวิกฤติค่าครองชีพ แต่คนไทยพอมีความหวังกับเศรษฐกิจอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนมุมมองการใช้จ่ายและค่าครองชีพคนไทย 50% มองว่า “ราคาสินค้าและบริการ” ปี 2567 จะสูงขึ้นทำให้ Shrinkflation กลายเป็นกระแส ที่ถูกพูดถึงกันว่าเทคนิคการตลาดแบบลวงลูกค้าหรือไม่..!?

โดยกระแส Shrinkflation นี้เอง คณะกรรมาธิการยุโรป เรียกว่าเป็น “เทคนิคการตลาดที่หลอกลวง” ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศส ระบุว่า จะออกกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับการแจ้งเตือนหากสินค้าลดขนาดลงไปด้วย

แม้กลยุทธ์ Shrinkflation จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษช่วง 1-2 ปี อันสืบเนื่องจากราคาน้ำมันโลกสูงสุดรอบ 7 ปี สถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้เกิด “สภาวะเงินเฟ้อ” ที่ส่งผลให้ “ราคาสินค้า” ต้องปรับตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..

บทสรุปเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่า การขึ้นราคาด้วยเหตุต้นทุน ที่ผู้ผลิตต้องแบกรับเพิ่มขึ้น กับการใช้เทคนิค Shrinkflation หรือการลดขนาดแต่ราคาเท่าเดิม ลูกค้าและผู้บริโภคจะเลือกแนวทางใด..แต่ที่แน่ ๆ ผู้ประกอบการหลายรายเขาได้เลือกใช้กลยุทธ์ Shrinkflation กันแล้ว..เพียงแต่เราไม่รู้ตัวกันเท่านั้นเอง..!!??

Back to top button