ปี 67 อุตฯ สื่อสารไทยปรับโฉม TRUE ฟื้น AIS แจ่ม

ในปี 2567 อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีความน่าสนใจว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายหลังผู้เล่นในตลาดมีจำนวนลดลง


เส้นทางนักลงทุน

ในปี 2567 อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีความน่าสนใจว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายหลังผู้เล่นในตลาดมีจำนวนลดลง เนื่องจากการควบรวมกิจการและซื้อกิจการของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรม

ทั้งในส่วนของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)-บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จนส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 TRUE-DTAC มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมกัน 51.37 ล้านราย แบ่งเป็น ระบบเติมเงิน 35.7 ล้านราย และระบบรายเดือน 15.6 ล้านราย ขณะที่ธุรกิจออนไลน์มีผู้ใช้บริการรวม 3.7 ล้านราย

และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS ที่เข้าซื้อหุ้นสามัญบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) หรือ 3BB ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์รายใหญ่ของไทย ตลอดจนซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จากบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS)

ทำให้มีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในไทยรวมกัน 4.7-4.8 ล้านราย พร้อมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ไฟเบอร์และอินเทอร์เน็ตทุกพื้นที่ครอบคลุมกว่า 131,000 ตารางกิโลเมตร ใน 77 จังหวัด 923 อำเภอ 5,849 ตำบล และความสามารถในการรองรับการให้บริการกว่า 9.5 ล้านพอร์ตทั่วประเทศ

หากมองในด้านของผู้ประกอบการ เมื่อผู้เล่นในตลาดลดจำนวนลง ย่อมจะเกิดผลดี เพราะการแข่งขันจะลดลง สวนทางกับความสามารถในการทำกำไรที่น่าจะเพิ่มขึ้น จากต้นทุนที่ลดลงด้วย

ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ จึงมีมุมมองเชิงบวกหุ้นในกลุ่มโทรคมนาคม มองว่าการแข่งขันที่ผ่อนคลายและการลดต้นทุน คาดว่ากำไรหลักของบริษัทโทรคมนาคมไทยจะเติบโต 29% ในปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบจากฐานของปี 2566

หลังจากที่กำไรหลักของกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมลดลงต่อเนื่องมา 4 ปี แม้ว่ารายได้จากบริการหลักในปี 2567 จะเติบโตเพียง 2% (ไม่รวมรายได้จาก 3BB)

การเติบโตของกำไรหลักของบริษัทโทรคมนาคมไทยดังกล่าวได้รับแรงหนุนหลักจากการซินเนอร์ยี่ (synergy) ที่เกิดขึ้นหลัง TRUE ควบรวมกิจการกับ DTAC ในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่ง TRUE ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่าย (OPEX) หลายรายการลง 30% ภายในปี 2568 โดยได้เริ่มลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมาแล้ว

การแข่งขันที่เบาและการลดค่าใช้จ่ายหลังจาก TRUE ควบรวมกิจการ ทำให้การแข่งขันผ่อนคลายลง และการใช้งาน 5G ที่เพิ่มขึ้นน่าจะหนุนรายได้จากบริการหลักให้เติบโตได้

การเติบโตของรายได้ในปี 2567 ที่ระดับ 2% จะได้รับแรงหนุนจากผู้ใช้เลขหมาย (ARPU) ที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจมือถือและไฟเบอร์บรอดแบนด์ ประเมินรายได้จากธุรกิจมือถือซึ่งเป็น 78% ของรายได้จากบริการหลัก จะเพิ่มขึ้น 1.5% จาก ARPU ที่เพิ่มขึ้น 1.2% โดยแนวโน้ม ARPU ของธุรกิจมือถือน่าจะได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคทยอยหันมาใช้แพ็กเกจ 5G มากขึ้น

การแข่งขันที่เบาบางลง พบว่าโควตาอินเตอร์เน็ตสำหรับลูกค้าเติมเงินมือถือมีการถูกปรับลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าบริการของแพ็กเกจรายเดือนก็มีการปรับเพิ่มขึ้น

หุ้นหลัก ๆ ในกลุ่มโทรคมนาคมไทยมีความโดดเด่นขึ้นมาทันทีในปี 2567 เช่น TRUE เนื่องจากคาดว่าผลขาดทุนสุทธิหลักจะลดลงเหลือ 2.6 พันล้านบาท ในปีนี้ จาก 7.6 พันล้านบาท ในปีก่อน

ขณะที่ คาด EBITDA ปี 2567 จะเติบโตแข็งแกร่งที่ 4% จากปีก่อน ขณะที่ราคาหุ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ต่ำกว่าคู่แข่ง

บล.เมย์แบงก์ ยกให้ TRUE เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มนี้ มีมุมมองเชิงบวก คาดว่าผลขาดทุนสุทธิหลักจะลดลง มูลค่าของกิจการก่อนหักค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EV/EBITDA ในปี 2567 ที่ต่ำ 5.7 เท่า เทียบกับกลุ่มโทรคมนาคมของอาเซียนที่ 7.5 เท่า

นอกจากนี้ ความเชี่ยวชาญของเทเลนอร์ (Telenor) ในการปรับโครงสร้างองค์กร คาดว่าผลขาดทุนสุทธิหลักของ TRUE จะลดลงแบบไตรมาสต่อไตรมาสในทุก ๆ ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 ก่อนที่จะมีกำไรในปี 2568 ประมาณการกำไรหลักที่ 1.6 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ADVANC หรือ AIS นั้น การแข่งขันที่ลดลง บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จึงมองว่าจะมีกำไรปกติไตรมาส 4 ที่ 7.5 พันล้านบาท ลดลง 0.8% จากไตรมาสก่อน เพราะแรงกดดันช่วงแรกของดีล 3BB ที่เป็นผลขาดทุนต่อกลุ่ม แต่เติบโต 16% จากงวดปีก่อน มาจากการแข่งขันที่ลดลงในอุตสาหกรรมและการควบคุมต้นทุนที่ดี

ผลขาดทุนของดีลในไตรมาส 4 เนื่องจากบริษัทยังไม่มีเวลาในการลดต้นทุนซ้ำซ้อน และสร้าง Synergy เพราะเพิ่งปิดดีลสำเร็จ แต่จะทยอยลดลงรายไตรมาส และในระยะยาวคาดดีลเป็นบวกกับกลุ่มอย่างน้อย 2-3 พันล้านบาทต่อปี จากต้นทุนซ้ำซ้อนที่จะหายไป การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ลดลง และการขายบริการระหว่างกลุ่ม

ทั้งนี้ กำไรปกติทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 2.89 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2567 ผลประกอบการอยู่ในรอบเติบโต ADVANC มีงบดุลแข็งแกร่ง ให้เงินปันผลสูง มีภาระหนี้สินน้อย

ปี 2567 อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้ประกอบการในตลาดเหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น

Back to top button