พาราสาวะถี
ผลการเดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจของคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชัยชนะ เดชเดโช เป็นการอธิบายภาพที่ชัดขึ้นเรื่องของ ทักษิณ ชินวัตร
ผลการเดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจของคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน เป็นการอธิบายภาพที่ชัดขึ้นเรื่องของ ทักษิณ ชินวัตร ในความคิด ความรู้สึกหรืออคติของฝ่ายที่ไม่ชอบขี้หน้า ย่อมมองว่าเป็นอภิสิทธิ์ชน เป็นผู้ต้องขังเทวดา แต่เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องงัดเอาระเบียบ ข้อปฏิบัติที่ยึดโยงตามกฎหมายมาชี้แจง คำตอบที่มาจากปากของคนที่ประกาศกร้าวก่อนไป กลายเป็นหนังคนละม้วนทันที
การยอมรับว่าโรงพยาบาลตำรวจทำถูกต้องทุกอย่าง ส่วนการจะให้คำตอบว่าทักษิณรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ ชัยชนะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองแต่เป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ พร้อมกับทวงเอกสารต่าง ๆ ที่ขอไป กลายเป็นการแก้เกี้ยวจากการเสียหน้าไปเสียฉิบ อย่างที่รู้ เมื่อไปแล้วเห็นว่าชั้น 14 มีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ พร้อมตำรวจดูแลอยู่ ส่วนตัวเป้าหมายจะอยู่หรือไม่ ถามว่าใครหน้าไหนจะยืนยันได้ การจะเปิดเผยข้อมูลไม่ว่าจะภาพถ่ายหรือภาพจากกล้องวงจรปิดต้องได้รับการยินยอมจากผู้ต้องขังก่อน
คงไม่ใช่บทเรียนว่าจะทำอะไรต้องให้รอบคอบ และอย่าใช้อคติมาเป็นตัวนำในการทำงาน เพราะบางฝ่ายที่เฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มองไปอีกมุมว่าเป็นการเคาะกะลาอยากร่วมรัฐบาลจนตัวสั่น ซึ่งก็น่าจะเสียเวลาเปล่า เพราะการปรับ ครม.นั้น เศรษฐา ทวีสิน ยืนยันหนักแน่น 314 เสียงมากพอและมั่นคงแล้ว คงยากที่จะไปดึงใครมาร่วมอีก ยิ่งการจะไปเอาพรรคเก่าแก่มาร่วมภายใต้บริบทที่ความขัดแย้งภายในพรรคยังไม่สงบ อาจจะเป็นการชักศึกเข้าบ้านอีกต่างหาก
กรณีของทักษิณนั้นย้ำมาตลอดว่า เมื่อทุกอย่างว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม จึงยากที่จะเล่นงานกันได้ง่าย ๆ การให้สัมภาษณ์ของ นพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นการยืนยันอีกทางหนึ่งว่า กระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งถูกนำมาใช้กับอดีตนายกฯ นั้นเป็นไปตามหลักสากล ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกฎกระทรวง ระเบียบของกรมราชทัณฑ์เรื่องผู้ต้องขัง การพักโทษ และการเปลี่ยนสถานที่คุมขัง
ขณะเดียวกัน ระเบียบเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานที่คุมขัง คือระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ก็ออกสมัยรัฐบาลที่แล้ว ทำไมเวลานั้นจึงไม่เห็นมีใครออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่เพียงแต่นพดลเท่านั้น คนจำนวนไม่น้อยก็คงคิดในทำนองเดียวกันคือ ไม่เชื่อว่ารัฐบาลเก่าได้มุ่งช่วยเหลือทักษิณ เนื่องจากระเบียบที่ออกมานั้นดำเนินการตามมาตรฐานสากล ต่างประเทศก็ทำกันแบบนี้
ไม่ว่าจะคิดหรือรู้สึกอย่างไร แต่หากมองจากข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยึดมั่นความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะระเบียบนี้ใช้กับผู้ถูกคุมขังทุกคน ไม่ว่าจะนามสกุลอะไร ระเบียบราชทัณฑ์ใช้กับทุกคน ประสาคนที่เคยทำงานกับทักษิณ นพดลอดไม่ได้ที่จะชี้ว่า มีการพร่ำพูดถึงหลักนิติธรรม แต่ไม่ควรใช้กับบางคน บางเวลา แต่ต้องใช้กับทุกคนตลอดเวลา และอย่าดูเฉพาะนิติธรรมที่เป็นคุณกับฝ่ายตัวเอง อดีตนายกฯ ได้ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองมามากมาย อะไรที่เป็นสิทธิตามกฎหมายก็สมควรจะได้รับ
แต่เชื่อได้ว่าพวกขาประจำคงยังไม่ลดละต่อการที่จะไล่บี้เรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะกรมราชทัณฑ์เท่านั้น พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม อาจจะต้องชี้แจงไขข้อข้องใจเรื่องนี้ให้กระจ่าง โดยเฉพาะหากมาจากปากของพีระพันธุ์ที่เป็นอดีตผู้พิพากษา น่าจะทำให้ทุกอย่างกระจ่างชัดได้มากขึ้น ความจริงก็เหลือเวลาอีกไม่นาน หากทักษิณเข้าข่ายได้รับการพักโทษ เดือนหน้าก็น่าจะได้กลับไปอยู่บ้าน ไม่ต้องสร้างความลำบากใจให้กับทุกภาคส่วนที่อยู่ในฝ่ายกุมอำนาจแล้ว
จะว่าไปหากมองมิติทางการเมืองที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลในฐานะแกนหลักซีกรัฐบาลและแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ประเด็นของทักษิณดูเหมือนว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกหยิบยกมาห้ำหั่นกัน ดูท่วงทำนองของพรรคแกนนำฝ่ายค้านจะมุ่งเน้นไปที่การดิสเครดิตต่อการเดินหน้านโยบายสำคัญของรัฐบาลเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ตที่คลอดได้ยากเย็นจนป่านนี้ยังไร้คำตอบว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เมื่อใด
น่าจะต้องรอให้เศรษฐา และ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับจูนทางความคิดให้มองเห็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศใกล้เคียงกันเสียก่อนจึงจะเดินต่อกันได้ จังหวะนี้ก้าวไกลก็ป้อนข้อมูลใส่หัวประชาชนเพื่อชี้ให้เห็นว่าโครงการไม่น่าจะได้เกิด เช่นเดียวกับล่าสุดที่ 4 สส.ของพรรคได้ไขก๊อกจากความเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์
เป็นการลาออกวันสุดท้ายในการลงมติเห็นชอบรายงานการส่งผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ไปยังสภาฯ แน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาลย่อมมองว่าเป็นการเล่นเกมการเมืองแบบไม่สร้างสรรค์ เอาแต่ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองตลอดเวลา แต่ก้าวไกลก็จะมีมุมอธิบายว่าเป็นการใช้สิทธิตามข้อกฎหมาย เพื่อพยายามชี้ให้สังคมเห็นว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้ก่อประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไปในตัว ต้องดูระยะยาวการใช้วิธีเตะตัดขาแบบนี้จะเป็นการสร้างหรือทำลายคะแนนนิยม
ปมขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.ว่าด้วยการเปิดข้อมูลการสอบนาฬิกาหรูของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. จะหาทางบ่ายเบี่ยงอย่างไรต่อไปอีก หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดตีตกคำร้องของ ป.ป.ช.ที่จะให้มีการไต่สวน พิจารณาคดีใหม่ กรณีนี้เป็นการฟ้องคดีให้เปิดเผยข้อมูลโดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหารของเนชั่นออนไลน์ ไม่นับรวมที่ วีระ สมความคิด ชนะคดีไปก่อนหน้า ถ้าไม่มีลับลมคมในก็ไม่เห็นจะต้องดิ้นรนกันขนาดนี้ ยิ่งดิ้นศรัทธาและความเชื่อถือของประชาชนยิ่งเสื่อมทรุด