TU ยอมเจ็บ..เพื่อจบ.!
ผิดคาดแฮะ..!! แทนที่วานนี้จะเห็นแรงแพนิกเทขายหุ้น TU กันจ้าละหวั่น หลังจากช่วงเย็นวันที่ 16 ม.ค. TU แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยเรื่องถอนการลงทุนใน “เรด ล็อบสเตอร์”
ผิดคาดแฮะ..!! แทนที่วานนี้ (17 ม.ค. 2566) จะเห็นแรงแพนิกเทขายหุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กันจ้าละหวั่น หลังจากช่วงเย็นวันที่ 16 ม.ค. TU แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยเรื่องถอนการลงทุนใน “เรด ล็อบสเตอร์” (Red Lobster)…ซึ่งนัยสำคัญอยู่ที่การตั้งด้อยค่าครั้งเดียว 18,500 ล้านบาท (ประมาณ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในไตรมาส 4/2566 แต่เป็นตัวเลขทางบัญชี…
กลับกลายเป็นว่า มีแรงซื้อสวนเข้ามาซะงั้น จนทำให้ราคาปรับขึ้นไป 2.74% ปิดตลาดที่ 15 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นกว่า 1,915.15 ล้านบาท
นั่นเป็นเพราะ แม้จะทำให้ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายติดลบมโหฬาร แต่เป็นการยอมเจ็บ…เพื่อจบ..!?
เพราะนับตั้งแต่ปี 2559 ที่ TU ได้ “เรด ล็อบสเตอร์” มาครอบครอง ก็กลายเป็นเนื้อร้ายที่กัดกร่อนกำไรมาโดยตลอด
ที่จริงการทุ่มเงินก้อนโต 575 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 20,000 ล้านบาท ลงทุนใน “เรด ล็อบสเตอร์” ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ…ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงสู่ธุรกิจใหม่ ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เกี่ยวเนื่อง…
เนื่องจาก TU มีต้นน้ำ ทั้งอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เยือกแข็ง และมีปลายน้ำ ปลาทูน่ากระป๋อง ภายใต้แบรนด์ ซีเล็ค (SEALECT) และ “ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี” อยู่แล้ว การมีร้านอาหารทะเลเพื่อต่อยอดไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แถมได้ประโยชน์จากการขายวัตถุดิบ กุ้ง หอย ปู ปลา ให้กับเรด ล็อบสเตอร์อีกต่างหาก…นอกเหนือจากการรับรู้รายได้และกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว
ถ้าไปดูชื่อชั้นของ “เรด ล็อบสเตอร์” ก็ไม่ใช่แบรนด์ไก่กา หรือเป็นร้านอาหารบ้าน ๆ นะ แต่เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปัจจุบันมีกว่า 700 สาขาทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย…ว่ากันว่า เรด ล็อบสเตอร์ มักเป็นจุดนัดพบเจรจาธุรกิจของนักธุรกิจ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ทำให้เกือบทุกสาขามีคนแน่นร้าน
แต่น่าเสียดายที่ TU ได้เรด ล็อบสเตอร์มาปุ๊บ ภาวะตลาดเข้าสู่ขาลงปั๊บ เนื่องจากเศรฐกิจโลกถดถอย มิหนำซ้ำยังถูกซ้ำเติมจากวิกฤตโควิดอีก ทำให้การเข้าไปลงทุนในเรด ล็อบสเตอร์ ดูเหมือนยังไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก ครั้นถ้ายังทู่ซี้ถือต่อไป มีแต่จะเข้าเนื้อ อาจต้องใส่เงินเพิ่มทุนเพิ่มเติม สุดท้ายก็ต้องตัดใจขายทิ้งไป
เอาล่ะ…ชัดเจนว่า การจบ..แต่เจ็บของ TU ต้องแลกมากับการตั้งด้อยค่า 18,500 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งจะทำให้งบปี 2566 ขาดทุนครั้งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์…ถ้าคิดแบบหยาบ ๆ เทียบเคียงจากงบงวด 9 เดือนแรก มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,256 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาส 4/2566 มีการตั้งด้อยค่า 18,500 ล้านบาท จะทำให้ปี 2566 มีตัวเลขขาดทุนราว 15,000 ล้านบาท
แต่ต้องหมายเหตุไว้ว่า เป็นตัวเลขขาดทุนทางบัญชีเท่านั้นนะ เงินสด TU ไม่ได้หายไปไหน..? ยังอยู่ในกระเป๋าครบทุกบาททุกสตางค์
และด้วย TU สะสมแต้มบุญไว้เยอะ ตุนกำไรสะสมไว้สูงถึง 36,334 ล้านบาท ทำให้แม้ตั้งด้อยค่า 18,500 ล้านบาท ไปหักล้างแล้ว ก็ยังเหลือกำไรสะสมอีกกว่า 17,800 ล้านบาท เลยนะ
ดังนั้น ผู้ถือหุ้นก็ไม่ต้องกังวล เรื่องการจ่ายเงินปันผล ยังไงก็ยังจ่ายได้ตามปกติ เพียงแค่ต้องรอการอนุมัติยกเว้นเงื่อนไขจากธนาคารและผู้ถือหุ้นกู้ก่อน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าน่าจะจ่ายที่ 57 สตางค์ต่อหุ้น สำหรับงวดปี 2566..!!
ที่สำคัญ TU จะได้ปลดแอกจากเรด ล็อบสเตอร์ ไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนเข้ามาปีละ 1,000 ล้านบาท อีกต่อไป
แล้วถ้ามองในแง่เงินลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งไปกู้เงินระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 20,100 ล้านบาท พร้อมออกหุ้นกู้อีก 1,300 ล้านบาท แต่ระดับ TU ไม่น่าหนักใจอะไร กระบวนการจะไปรีไฟแนนซ์ หรือ Roll Over ก็ว่ากันไป
มิน่าล่ะ…นักวิเคราะห์ถึงพร้อมใจกันเชียร์ “ซื้อ” หุ้น TU โดยให้ราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 20 บาท
เพราะมองว่านับจากนี้ไป TU น่าจะเข้าสู่โหมดโตแรงแซงทางโค้งแล้วน่ะสิ..!?
…อิ อิ อิ…