‘ชอร์ตเซล’ วัวหายล้อมคอก.!?
ถือเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ ซิติก บริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่สุดและเป็นบริษัทของรัฐบาลจีนประกาศระงับการทำธุรกรรม Short Selling
ถือเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ ซิติก (Citic Securities) บริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่สุดและเป็นบริษัทของรัฐบาลจีนประกาศระงับการทำธุรกรรม Short Selling หรือขายชอร์ตสำหรับลูกค้าบางราย หลังจากตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างหนักช่วงที่ผ่านมา
“ตลอดช่วงรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีน ปรับตัวลดลงกว่า 5%”
ทั้งนี้ธุรกรรม Short Selling คือ “การยืมหุ้นมาขาย” ช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในทิศทางขาลง ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนหนึ่งที่ได้รับความนิยมช่วงที่ตลาดหุ้นปรับลงแรง โดยนักลงทุนไม่จำเป็นต้องมีหุ้นตัวนั้นอยู่ในพอร์ต แต่สามารถยืมหุ้นจากโบรกเกอร์ที่ตนเองเปิดบัญชีซื้อขายอยู่มาทำการขายออกไปก่อน
หลังจากนั้นหากราคาหุ้นปรับตัวลงตามที่ประเมินไว้นักลงทุนจะทำการซื้อหุ้นตัวนั้นกลับคืนในราคาต่ำกว่าตอนที่ยืมมาขาย แล้วนำไปคืนให้กับโบรกเกอร์ โดยได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นที่ขายไปและราคาที่ซื้อกลับคืนมา
รายงานข่าวระบุว่า บริษัทหลักทรัพย์ ซิติก มีการระงับการให้ยืมหุ้นแก่นักลงทุนรายย่อยแล้ว พร้อมกับเพิ่มข้อกำหนดสำหรับลูกค้าที่เป็นนักลงทุนสถาบัน หลังได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีน
แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าขณะนี้มีบริษัทหลักทรัพย์ของจีนกี่รายที่ดำเนินการห้ามขายชอร์ต แต่ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่า จีนมีความตั้งใจจะกระตุ้นบรรยากาศการซื้อขายให้คึกคักมากขึ้นหลังจากความพยายามให้หน่วยงานของรัฐบาลจีนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารไม่สามารถผลักดันตลาดหุ้นจีนดีดตัวขึ้นมาได้
นอกจากนี้รัฐบาลจีนได้แนะนำให้บริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ 4 แห่ง ภายใต้รัฐบาลจีนร่วมมือกันสนับสนุนตลาดหุ้นด้วยการเข้าซื้อกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) ในตลาดด้วย
ย้อนไปช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมาคณะกรรมการด้านบริการการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) ออกมาตรการห้ามทำการขายชอร์ตหุ้น (Short Selling) ในบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 พ.ย.-30 มิ.ย. 67
หลังจากพบว่า “วาณิชธนกิจต่างชาติรายใหญ่” ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้และมีพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมด้วยการทำธุรกรรม Naked Short Selling ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจนทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างหนักและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นเกาหลีใต้
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยดูเหมือนสองแรงแข็งขันทั้งหน่วยงานกำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานเสริมส่งสนับสนุนการลงทุน (โปรโมเตอร์) อย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมาตั้งโต๊ะแถลงว่าธุรกรรม “ขายชอร์ต” (Short Sell) ไม่ได้เป็นตัวการหรือว่าเป็นตัวซ้ำเติม ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยดำดิ่งอยู่ในขณะนี้
“พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการก.ล.ต.ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการห้าม Short Sell (ขายชอร์ต) เพราะยังไม่เห็นว่าการห้าม Short Sell จะเป็นผลบวกมากกว่าผลลบต่อตลาดและปริมาณการขายชอร์ตไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีสัดส่วนเพียง 5.6% มูลค่าซื้อขายทั้งหมด
“การทำ Short Sell นั้นไม่ได้มีผลกระทบให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรงหรือเป็นการทุบหุ้นหากห้ามการทำธุรกรรมขายชอร์ต เสมือนเป็นการอั้นกลไกของราคาตลาด”
ขณะที่ “ภากร ปีตธวัชชัย” ผู้จัดการตลาดฯ ระบุว่าสัดส่วนปริมาณธุรกรรม Short Sell ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงที่ผ่านมาแต่ด้วยปริมาณซื้อขายของตลาดปรับตัวลดลงส่งผลให้สัดส่วน Short Sell เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธุรกรรมที่เกิดจากการ Short Sell ที่เกิดจากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีส่วนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปมากเท่าที่ควรแต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการทำธุรกรรมจากบุคคลบางกลุ่มที่ทำ Short Sell และมีผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า “เรื่องมาตรการชอร์ตเซลตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปต้องดูข้อมูลจากหลาย ๆ อย่างประกอบให้ครบถ้วนและรอบคอบส่วนการปรับตัวขึ้นลงของตลาดหุ้นไทย ตลาดเฝ้าดูตลอดมีการให้หุ้นที่ขึ้นลงผิดปกติชี้แจงว่ามีอะไรที่นักลงทุนยังไม่รู้หรือไม่”
เริ่มต้นปีใหม่ 2567 มากว่า 2 สัปดาห์ หุ้นไทยติดลบกว่า 2% ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยเพียง 40,000 ล้านบาท ดูเหมือนไม่เพียงพอที่ก.ล.ต.และตลท.จะตัดสินใจทำอะไรอีกหรือ.?
หรือ “จะปล่อยให้วัวมันหาย..แล้วมาคิดจะล้อมคอก” จะเอากันแบบนั้นใช่หรือไม่.!?