พาราสาวะถีอรชุน

ยังคงตรวจสอบกันเองต่อเนื่องและหนักหน่วงขึ้นอีกต่างหาก กับท่วงทำนองของ วิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุด เป็นคิวของโครงการประดับไฟตกแต่งที่ลานคนเมืองโดย หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ด้วยงบประมาณมูลค่า 39.5 ล้านบาท ซึ่งพบว่ามีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง


ยังคงตรวจสอบกันเองต่อเนื่องและหนักหน่วงขึ้นอีกต่างหาก กับท่วงทำนองของ วิลาศ  จันทรพิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุด เป็นคิวของโครงการประดับไฟตกแต่งที่ลานคนเมืองโดย หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ด้วยงบประมาณมูลค่า 39.5 ล้านบาท ซึ่งพบว่ามีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่บริษัทที่รับงานเป็นบริษัททัวร์ที่เพิ่งไปเพิ่มวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 คือ รับตกแต่งไฟและขายหลอดไฟประดับ และ จัดจำหน่ายเครื่องดนตรีทุกประเภท แสดงให้เห็นว่ามีการพูดคุยว่าจะต้องมารับงานดังกล่าว เนื่องจาก กทม.ประกาศเชิญชวนให้บริษัทมายื่นซองประมูลทำโครงการประดับไฟตกแต่งในวันที่ 26 พฤศจิกายนและเปิดซองประมูลในวันที่ 17 ธันวาคม 2558

โดยที่บริษัทดังกล่าวเข้ามาทำงานทันทีทั้งที่ยังไม่ทำสัญญา เพราะจะต้องมีการประกาศผู้ที่ได้รับการประมูลในวันที่ 22 ธันวาคม 2558 พร้อมๆ กับข้อสังเกตว่า อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. ออกมาระบุไม่เป็นไร ไหนๆ บริษัทนี้ก็ได้งานอยู่แล้ว จึงมีข้อสงสัยงานนี้ถ้าไม่มีการติดต่อกันหรือฮั้วกันไว้ก่อน ไฟจำนวน 5 ล้านดวง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หามาได้ทันเวลา

ถ้าเช่นนั้นคงสอดคล้องกับที่ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯสตง.ออกมาตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้า และเรื่องนี้ไม่น่าจะหยุดเฉพาะที่สตง.เท่านั้น ป.ป.ช.ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมและน่าจะต้องพิจารณาเป็นการด่วนเสียด้วยซ้ำไป ทั้งการใช้งบประมาณฉุกเฉินทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน รวมไปถึงความไม่โปร่งใสหลายๆ ประการที่มีการตรวจสอบกันในเวลานี้

คงต้องวัดมาตรฐานของป.ป.ช.ชุดใหม่ที่เพิ่งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องลี้ลับอะไรเหมือนอย่างที่มีใครบางคนพูดถึงเรื่องจีที 200 ที่ต่างประเทศเขาฟันบริษัทเจ้าของเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจอมปลอมไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่ว่าชั้นการตรวจสอบขององค์กรอิสระที่ดูแลเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะของไทยยังมะงุมมะงาหรา ไม่รู้ว่าไปเจอตอใหญ่อะไรเข้า

ขณะที่ผลงานชิ้นเอกส่งท้ายปีอันเป็นการลักลั่นของป.ป.ช.ชุดเก่ากับชุดใหม่ก็คือการยกคำร้องของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา กรณีสั่งการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานขององค์กรอิสระแห่งนี้ โดยที่ล่าสุด พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯได้เขียนบทความหนึ่งที่น่าสนใจ

ว่าด้วยเรื่อง “วิกฤติความยุติธรรม” คือหนึ่งในสาเหตุหลักของวิกฤติทางการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยอาจารย์พวงทองเริ่มต้นมองว่า ในสังคมประชาธิปไตยทุกสังคมล้วนแต่ต้องมีองค์กรศาลและกึ่งศาลทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจอย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ โดยปลอดพ้นจากอคติทางการเมืองส่วนตัว ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของคนบางกลุ่ม ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดหลักกฎหมาย ความโปร่งใส และความเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย

แน่นอนว่า ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ว่า คำตัดสินขององค์กรเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับจากคู่กรณีว่า “เป็นธรรม” และความขัดแย้งนั้นๆ ก็จะ “เป็นอันยุติ” สังคมก็สามารถข้ามพ้นความขัดแย้งนั้น และเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีสังคมไหนจะเข้มแข็งอยู่ได้ หากประชาชนหมดความเชื่อถือศรัทธาต่อระบบความยุติธรรม

แต่สังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา องค์กรด้านความยุติธรรมทั้งหลายกลับทำลายความชอบธรรมของตนเองอย่างสิ้นเชิง พวกเขาไม่ยี่หระต่อความรู้สึกของประชาชนแม้แต่น้อย พวกเขาไม่เพียงแต่ไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้ แต่กลับขยายความรู้สึกคับแค้นขื่นขมให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น ทำตัวหูหนวกตาบอดต่อรอยร้าวที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกขณะ

ภาวะตามอำเภอใจ ความไม่มีมาตรฐาน ไม่เคารพต่อนิติรัฐ ไม่สนใจหลักความเท่าเทียมเสมอภาคและสิทธิของประชาชน กลายมาเป็นมาตรฐานขององค์กรที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมของไทยไปเสียแล้ว พวกเขามองว่าเป้าหมายของตนนั้นเป็นเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ เป็นความดีเหนือความดีทั้งปวง หลักการทั้งหลายจึงเป็นแค่วิธีการที่ต้องยอมศิโรราบให้กับเป้าหมายของพวกเขา

พวกเขากลับเสแสร้งหูหนวกตาบอดว่า วิธีการตามอำเภอใจที่พวกเขาใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลับยิ่งทำให้สังคมจมดิ่งลงไปในหลุมดำของปัญหา จนไม่รู้ว่าจะหลุดพ้นออกมาได้อย่างไร เพราะสังคมไทยมาถึงจุดที่ไม่มีองค์กรใดอีกแล้วที่ไม่เผชิญกับ “วิกฤติความชอบธรรม” ไม่มีองค์กรใดที่จะทำหน้าที่ฟื้นฟูความยุติธรรม และยุติความขัดแย้งให้คนทุกฝ่ายยอมรับได้

วิกฤติความยุติธรรมนั้นอันตรายกว่าวิกฤติเศรษฐกิจเสียอีก ในยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หากประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าตนถูกรังแกจากรัฐบาล และต่อให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่เก่งสักเท่าไร ประชาชนก็ยังพอจะยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาล และพยายามร่วมแรงร่วมใจ ทำงานหนัก ฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจไปให้ได้ แต่วิกฤติความยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้ทำลายความรู้สึกของการเป็นคนกลุ่มเดียวกันของคนในสังคมอย่างรุนแรง

ความเกลียดชังระหว่างกลุ่ม ความเป็นพวกเราความเป็นพวกเขา ปรากฏอยู่ในทุกสถานการณ์ อย่าปฏิเสธเลยว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เป็นผลพวงของวิกฤติทางการเมือง การอ้างว่าเป็นผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลกไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า แล้วทำไมเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านของไทยจึงกลับเดินหน้าไปได้ดีกว่าไทย พร้อมๆ กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่กำลังฟื้นตัว

เมื่อกระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สังคมไทยจึงวนเวียนจมปลักกับปัญหาการเมืองที่ซ้ำซากและรุนแรงมากขึ้นทุกที จนทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของบรรดานักลงทุนหดหาย พร้อมๆ กับระบบต่างๆ เริ่มแสดงอาการผุพังเสื่อมโทรมออกมาให้เห็น แถมยังนำพาประเทศมาอยู่ใต้รัฐบาลทหารที่บริหารประเทศไม่เป็นอีกต่างหาก

พวกเขามักกล่าวว่าความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวยคือรากของปัญหา แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ รวมทั้งของสังคมไทยเองด้วย บอกเราว่าความยากจนไม่ทำให้ผู้คนพร้อมจะลุกขึ้นสู้กับผู้มีอำนาจจนถึงขั้นยอมเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก แต่ความโกรธแค้นต่อความอยุติธรรมต่างหากที่ทำให้คนหมดความอดทนอดกลั้นและพวกเขารอโอกาสที่จะทวงคืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนคืนเท่านั้นเอง

Back to top button