ดาวมฤตยูทับพลวัต 2016
เปิดปีใหม่วันแรก 2559 ขึ้นมา ตลาดหุ้นเอเชียก็นำร่องพาหุ้นทั่วโลกร่วงกัน 2-3% เป็นหางว่าว โดยเฉพาะตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ที่หนักกว่าใคร ถึงขั้นต้องใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ หยุดการซื้อขายช่วงบ่าย ซึ่งถ้าเช้าวันนี้หากเปิดมา ตลาดหุ้นจีนจะร่วงต่อ ก็ไม่แปลก
เปิดปีใหม่วันแรก 2559 ขึ้นมา ตลาดหุ้นเอเชียก็นำร่องพาหุ้นทั่วโลกร่วงกัน 2-3% เป็นหางว่าว โดยเฉพาะตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ที่หนักกว่าใคร ถึงขั้นต้องใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ หยุดการซื้อขายช่วงบ่าย ซึ่งถ้าเช้าวันนี้หากเปิดมา ตลาดหุ้นจีนจะร่วงต่อ ก็ไม่แปลก
ข่าวร้ายจากจีน ยังตามด้วยข่าวร้ายในประเทศอีก จากตัวเลขเงินเฟ้อปี 2558 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อวานนี้ติดลบ 0.90% ทำให้ข้ออ้างกันมาตลอดว่า เงินเฟ้อติดลบ ไม่ใช่เงินฝืด เป็นแค่โกหกคำโตหน้าตายของรัฐบาลและแบงก์ชาติ
การที่ดัชนีหุ้นไทยร่วงลง 1.91% ที่เหนือแนวรับ 1,260 จุด ไม่ได้หมายความว่า มีแนวรับแข็งแกร่ง แต่เป็นเพราะในเชิงเทคนิคแล้ว วันนี้ โอกาสที่จะทดสอบ 1,240 จุด ยังเป็นไปได้ และหากเลวร้ายกว่านั้นคือ 1,230 จุด กันเลยทีเดียว
หุ้นตกตั้งแต่วันแรกของการเปิดทำการตลาดหุ้นทั่วโลกเช่นนี้ นักลงทุนหลายคนถือเป็นสัญญาณร้าย หลายคนบอกว่า ที่โหรานุโหรไทยหลายสำนักทายทักก่อนสิ้นปีว่า หุ้นจะตกหนักตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมเป็นต้นไป ยาวนาน 7 เดือน เพราะเหตุว่า ปีนี้ ดาวมฤตยู (ดาวบาปเคราะห์) ทับดวงเมือง อันเป็นเหตุการณ์ครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ นับแต่ที่เมื่อปี พ.ศ.2392 และเมื่อปี พ.ศ.2475 (บางคนร้ายกว่านั้น แถมให้อีกว่าไม่ใช่แค่ปี 2559 แต่นับไปอีก 7 ปี)
เหตุหุ้นตกหนักวานนี้ อาจทำให้หลายคนรีบสรุปตามโหรานุโหรไปเลยว่า รังสีดาวมฤตยูอาจจะมากระทบตลาดหุ้นไทยเร็วกว่ากำหนด
โดยข้อเท็จจริง อาจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อต้นปี 2557 ดัชนีตลาดหุ้นไทยเปิดปีใหม่มาก็ต่ำเตี้ยทำนองนี้เช่นกัน เพราะฤทธิ์ของการประท้วงทั่วเมืองของกลุ่ม กปปส. ทำให้ดัชนีร่วงหนักลงไปที่ระดับ 1,224 จุด ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมา หลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม ทำให้ดัชนีวิ่งแรงขึ้นไปเกือบถึง 1,600 จุดเมื่อสิ้นปี
คำอธิบายของนักวิเคราะห์หุ้น ส่วนใหญ่ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนหดตัวต่ำกว่าคาด และค่าเงินหยวนอ่อนค่าค่อนข้างรุนแรงทำให้ทั่วโลกกังวลว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะดำดิ่งไปสู่ก้นเหวที่ลึกกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงบ่ายที่ตลาดหุ้นยุโรปร่วงแรงต่อเนื่อง และเมื่อคืนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นนิวยอร์กก็มีท่าทีไม่สดใส แม้ว่าจะมีแรงบวกของราคาน้ำมันจากการขัดแย้งระว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียก็ตาม ทำให้เกิดมุมมองเชิงลบว่า เช้าวันนี้ ตลาดหุ้นไทย จะแกว่งตัวผันผวนในกรอบทางลงมากกว่าขึ้น
ภาพเชิงลบของตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปี อาจชวนให้นักลงทุนล้างพอร์ตมากกว่าการเข้าลงทุน แต่คนที่มีประสบการณ์ช่ำชองในตลาดหุ้น รู้ดีว่า ความผันผวนช่วงนี้นี่แหละ เป็นโอกาสในวิกฤตที่จะต้องฝึกให้คุ้นเคยกันสำหรับสั่งสมประสบการณ์ในระยะยาว
นักคิดเชิงกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกหลายสำนัก ลงความเห็นตรงกันว่า ปี ค.ศ. 2016 (หรือ พ.ศ. 2559) เป็นปีแห่งความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะ เศรษฐกิจจีนที่เคยเป็นผนังกันชนให้กับเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตต้มย้ำกุ้ง วิกฤตซับไพรม์และเงินฝืดในยูโรโซนมากว่า 15 ปี เริ่มอ่อนกำลังลงน่ากังวล แม้ยังไม่มีภาวะ ฮาร์ด แลนดิ้ง
การอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่สหรัฐฯยังคงเผชิญกับโจทย์ว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดฯเมื่อเดือนธันวาคม จะส่งผลดีหรือเสียต่อเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใด ทำให้เกิดความกังวลว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการหดตัวของอุปสงค์รวมทั่วโลก น่าจะทำให้ภาวะเงินฝืดเป็นปัญหาหลักของโลกตลอดทั้งปีนี้ และอาจจะต่อไปอีก 2-3 ปี
ความกังวลต่อภาวะเงินฝืด และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำระดับ “กับดักสภาพคล่อง” (การที่ดอกเบี้ยต่ำ แต่คนไม่ต้องการออมและลงทุนใหม่) ทำให้นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นและตราสารหนี้จำนวนมาก ประเมินกันว่า ถึงเวลาของการประเมินราคาหุ้นและหลักทรัพย์ (เรียกว่า re-pricing) กันใหม่อย่างทั่วด้าน
คำนี้ หมายถึงการปรับลดราคาหุ้นกันเสียใหม่ ให้ใกล้เคียงกับราคาที่เหมาะสม หรือราคายุติธรรมนั่นเอง
ผลของการปรับลดราคา ทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นและหลักทรัพย์ทุกชนิดอย่างรุนแรง เมื่อวานนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ใหญ่ของปีเท่านั้น ยังจะมีต่อไปอีก
ข้อเท็จจริงเช่นนี้ อาจจะไม่เกี่ยวกับโหราจารย์ที่ไหนเลย แต่คำอธิบายที่มาบรรจบพอดีกัน แม้จะด้วยเหตุผลต่างกัน ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนพึงนำมาวิเคราะห์ด้วยสติปัญญา มากกว่าอาศัยความเชื่ออย่างง่ายดาย
คำถามของนักเศรษฐศาสตร์เชิงกลยุทธ์ว่า ปีนี้ ภาวะเงินเฟ้อต่ำ หรือเงินฝืดจะเลวร้ายกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ต้องถอดรหัส เพราะมันบ่งบอกถึงอนาคตของมูลค่าหุ้นหรือตราสารหนี้ หรือ ค่าเงินสกุลต่างๆ ที่เทียบกับเงินสกุลสำคัญของโลก อย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงภาวะเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝืด ธุรกิจที่กำไรหดหรือขาดทุน จะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่อสถาบันการเงินหรือผู้ถือหุ้นกู้ได้สะดวก อาจจะเกิดวิกฤตหนี้ได้ง่ายมากในหมู่สถาบันการเงิน แม้ว่า หลายประเทศจะพยายามแก้ไขและลดความเสี่ยง ด้วยกติกาของการควบคุมสถาบันการเงินที่เรียกว่า BASEL3 แล้วก็ตาม
การปรับรื้อโครงสร้างหนี้บริษัทต่างๆ จะเป็นปรากฏการณ์หลักธุรกิจต่างๆ ของปีนี้ โดยอาจจะมีผลพวงที่ตามมาคือ ธุรกรรม M&A หรือการควบรวมกิจการเป็นลูกโซ่ตามมา
ประเทศที่จะมีปัญหาเรื่องหนี้ใหญ่มากคือ ชาติกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงภาวะ “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” เพราะธุรกิจประเทศเหล่านี้ เพิ่งเรียนรู้การระดมทุนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะเทคนิคการก่อหนี้ที่สถาบันการเงินหรือที่ปรึกษาการเงินให้คำแนะนำ จนหนี้ภาคธุรกิจโป่งพองเป็นดินพอกหางหมูที่ปิดไม่มิด
ชาติสมาชิก BRICS โดยเฉพาะจีน อินเดีย และบราซิล ดูจะเป็นชาติที่มีปัญหาหนี้ให้ต้องแก้ไขในปีนี้หนักหนาสาหัสกว่าปกติ เพราะหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มมากขึ้นจากการที่รัฐบาลในประเทศพากันใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินขนาดและไม่สมเหตุสมผล
การแก้ปัญหาหนี้ที่ซับซ้อน ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ และนั่นหมายถึงแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกไปอีกนาน ทำให้หุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ยากจะไปต่อได้
หมอดูและนักคิดเชิงกลยุทธ์ เกิดมีมุมมองคล้ายกันด้วยคำอธิบายต่างกัน ก็ทำให้เกิดดาวมฤตยูครอบงำตลาดหุ้นได้ง่ายๆ ไม่ต้องหาข้อสรุปอื่นไกล