พาราสาวะถี
เมื่อข่าวปล่อยจี้ไปที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเพื่อไทยว่าด้วยการปรับ ครม.ไม่ได้ผล ทั้ง เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรียืนยันหนักแน่นไม่ถึงเวลา
เมื่อข่าวปล่อยจี้ไปที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเพื่อไทยว่าด้วยการปรับ ครม.ไม่ได้ผล ทั้ง เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรียืนยันหนักแน่นไม่ถึงเวลา และรัฐมนตรีก็ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ก็ตอกย้ำ เพิ่งทำงานกันมาแค่ 4 เดือนเอง เป็นระยะเวลาสั้นมากที่จะประเมินผลงานของแต่ละคน คงจะไม่เป็นธรรมหากมีการปรับเปลี่ยน
พวกต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาลจึงเบนเป้าไปที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ ด้วยการเล่นใหญ่กล่าวหาว่าจะมีการเปลี่ยนตัว พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายร่วมชายเลือดของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. เนื่องจากปัญหาสุขภาพ จนกระทั่งเจ้าตัวให้สัมภาษณ์สั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า “ไม่รู้ไปฟังมาจากไหน ไม่รู้เหมือนกัน ไม่มีหรอก” พร้อมบอกด้วยว่าตนเองยังแข็งแรง
สรุปก็คือ มีการปล่อยข่าวเพื่อหวังผลให้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลรวมไปถึงเศรษฐา แน่นอนว่า ในรายของผู้นำประเทศนั้นที่เน้นก็เป็นขบวนการคือ เป็นเพียงแค่ตัวสำรองเพราะตัวจริงของพรรคแกนนำอย่าง แพทองธาร ชินวัตร ก้าวมาเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ก้าวต่อไปก็ต้องเป็นนายกฯ รอดูหลังพวกลากตั้งหมดอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ จะต้องมีการเปลี่ยนตัวแน่ ๆ นี่คือการเสี้ยมแบบตีเนียน
ทั้งที่ความจริงภายในพรรคนายใหญ่ได้บทสรุปกันหมดแล้ว ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ถูกตราหน้าว่าตระบัดสัตย์หวังกุมอำนาจรัฐนั้น เมื่อส่งเศรษฐาเข้ามาเป็นนายกฯ แล้ว จะต้องเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ และต้องยืนระยะให้ครบเทอม 4 ปีให้ได้ ขณะเดียวกัน เพื่อไทยภายใต้การนำของอุ๊งอิ๊งก็จะเร่งปรับภาพลักษณ์ เรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา สามารถเบียดแข่งกับน้องใหม่มาแรงอย่างก้าวไกลได้ หรือจะให้ดีคือต้องชนะให้ได้
เป็นโจทย์ใหญ่ทั้งคู่ ดังนั้น หากไม่แบ่งบทกันเล่นก็มีแต่จะพากันลงเหว เหล่านี้บรรดากุนซือของพรรคแกนนำรัฐบาลที่ได้รับการบ้านมาจากนายใหญ่ ต่างรู้ดีว่าจะต้องทำงานกันแบบไหน นายกฯ ก็มีหน้าที่โชว์ความแข็งแกร่ง ขายความขยัน ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยอย่างที่เห็น ส่วนว่าที่นายกฯ ที่สวมหัวโขนแม่ทัพใหญ่ของพรรค ก็ไปฝึกงานรอในบทบาทที่สำคัญทั้งส่วนของซอฟต์พาวเวอร์ และ 30 บาทรักษาทุกโรค
กระบวนการเตรียมพร้อมในทางการเมืองอันเนื่องมาจากบทเรียนที่เคยได้รับในอดีตของเพื่อไทย หนนี้จะเห็นได้ว่ารอบคอบ รัดกุมมากขึ้น เห็นได้จากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นอกเหนือจากรัฐบาลจะดำเนินการโดยมีภูมิธรรมเป็นประธานคณะกรรมการในการศึกษาและขับเคลื่อนแล้ว ล่าสุด การที่พรรคเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ก็เป็นการทำงานคู่ขนานโดยมีเป้าหมายปลายทางคือ นำไปสู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
คำชี้แจงของเสี่ยอ้วนเกี่ยวกับการแยกบทบาทระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติก็เป็นคำตอบในเชิงหลักการ แต่ความเป็นจริงคือ การที่รัฐบาลก็กำลังทำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วพรรคแกนนำรัฐบาลก็ดันเสนอขอแก้ไขผ่านช่องทางสภาฯ นั้น มันทำให้เห็นว่านี่คือความขัดแย้ง ที่เป็นเหตุให้ประธานรัฐสภาจะต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในความต้องการของฝ่ายกุมอำนาจคือ อยากจะทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการทำประชามติว่าต้อง 2 หรือ 3 ครั้ง
เนื่องจาก หากรัฐบาลจะไปยื่นถามศาลเองก็จะไม่มีคำตอบอะไร เพราะเหตุยังไม่เกิด ศาลอาจจะไม่รับวินิจฉัย แต่เมื่อฝ่ายพรรคการเมืองมีการเสนอขอแก้ไข แล้วนำเข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของสภา แล้วไม่สามารถหารือมีข้อตกลงร่วมกันได้ หมายถึงเกิดความขัดแย้ง นั้นเท่ากับว่าเหตุเกิดขึ้นแล้ว ก็จะสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จะเห็นได้ว่าการขยับของพรรคเพื่อไทยรอบนี้เต็มไปด้วยความสุขุมคัมภีรภาพเป็นอย่างยิ่ง
ต้องไม่ลืมว่า การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งนั้นต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ดังนั้น หากสามารถมีช่องทางที่นำไปสู่การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติกี่ครั้งนั้น คำตอบที่ได้หมายถึงแรงกดดันที่มากขึ้นหรือน้อยลงของรัฐบาลนั่นเอง จะเห็นได้ว่าพวกสุดโต่งที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญนั้น หยิบยกเอาประเด็นงบประมาณที่ใช้ในการทำประชามติมาตีเป็นลำดับต้น ๆ
คงต้องรอดูท่าทีจากซีกฝ่ายค้านกันก่อน หลังประชาธิปัตย์ทำท่าว่าจะจับมือกับก้าวไกลในการทำหน้าที่ให้แข็งแรงขึ้น จะมีการขับเคลื่อนต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เห็นการขยับของซีกรัฐบาลแล้ว เข้าใจได้ว่ามีเรื่องร้อนที่พร้อมจะหยิบยกมาให้เป็นประเด็นได้ตลอดเวลา อันเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า หมดยุคของการทำไอโอไปแล้วเข้าสู่ยุคของการแบ่งชิงพื้นที่ข่าวสาร ทั้งที่หวังผลในทางที่ดีและเบี่ยงเบนความสนใจต่อเรื่องร้อนที่ถาโถมเข้าใส่ได้เป็นอย่างดี แต่บางพวกที่แม้จะอ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่ก็ยังชอบใช้ไอโอแบบเผด็จการป้ายสีคู่แข่งอยู่