พาราสาวะถี

ไม่ได้เหนือความคาดหมายกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในการชี้ว่าความเป็น สส.ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้สิ้นสุดลงจากการถือหุ้นไอทีวี


ไม่ได้เหนือความคาดหมายกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในการชี้ว่าความเป็น สส.ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้สิ้นสุดลงจากการถือหุ้นไอทีวี เนื่องจากไอทีวีได้สิ้นสภาพความเป็นสื่อไปก่อนแล้วนับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้บอกเลิกสัญญา ความจริงมันควรจะยุติกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้ตั้งแต่ชั้นของ กกต.แล้ว เพราะตรรกะง่าย ๆ ที่แม้แต่เด็กอมมือยังเข้าใจคือ จะใช้มุมไหนมาอธิบายเพื่อทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าไอทีวียังคงสถานะความเป็นสื่ออยู่

ปัญหาต่อไปสำหรับ กกต.ก็คือ ที่ไปยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญากับพิธาในประเด็นเดียวกันนี้ จะทำอย่างไรต่อไป น่าสนใจถ้ามีการไปฟ้องว่าการกระทำของ กกต.นั้นเป็นเจตนานำความเท็จไปร้องต่อศาล ดีไม่ดีอาจจะมีคนติดคุกตอนแก่เอาก็ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีของพิธาก็ได้หายใจโล่งไปในระดับหนึ่ง ได้กลับไปทำหน้าที่ สส. แต่ก็ต้องลุ้นต่อไปอีกว่า สิ้นเดือนนี้คดีที่มีชื่อถูกร้องร่วมกับพรรคก้าวไกลเรื่องแก้มาตรา 112 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ถ้ารอดได้อีก สถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นจะเป็นอะไรที่น่าเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ศาลได้ชี้แจงว่าไม่ได้ตัดสินคดีนี้ล่าช้า เพราะฝ่ายพิธาเองเป็นผู้ร้องขอขยายระเวลายื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน รวม 60 วัน ซึ่งศาลอนุญาต เพราะฉะนั้นคดีนี้ควรจะเสร็จสิ้นไปก่อน 60 วันที่แล้ว นอกจากนั้น ศาลยังบอกด้วยว่าการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะบวกหรือลบก่อนศาลวินิจฉัยเป็นการชี้นำ กดดันศาล เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้ ถือว่าไม่เหมาะสม ขอเตือนไว้ด้วย สื่อทั้งหลายพึงสังวรไว้ระวังจะถูกดำเนินคดี

ประสานักบริหาร เศรษฐา ทวีสิน จึงได้บอกกับนักข่าวเมื่อถูกถามถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่แค่เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตว่า มีการคิดอยู่ตลอดเวลา และมั่นใจว่าจะมีนโยบายอื่นที่คลอดออกมาด้วย เพื่อตอกย้ำว่า หากโครงการสำคัญของรัฐบาลเดินต่อไม่ได้ ก็ต้องใช้เครื่องมืออื่นในการดำเนินการ อย่างที่รู้กัน ด่านหินที่รัฐบาลเจอไม่ใช่ความเห็นของกฤษฎีกา ป.ป.ช. ยังมีกรณีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศบอกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต

แน่นอนว่า รัฐบาลอาจมองเป็นแค่ความเห็นหนึ่ง แต่ทีมที่ปรึกษาทั้งของเศรษฐา คณะรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ต่างมองเห็นว่าถ้าตั้งการ์ดสูงขนาดนี้ การที่จะดันทุรังเดินกันต่อก็อาจจะทำให้เกิดการสะดุดในอนาคต แม้ว่าตัวเลขจีดีพีของปีที่แล้วตามเอกสารหลุดของกระทรวงการคลังจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีโตแค่ 1.8% หากมีการร้องไปยังองค์กรหนึ่งองค์กรใดขึ้นมา ถามว่าระหว่างข้อมูลของกระทรวงกับ ธปท. ฝ่ายมีอำนาจชี้ขาดจะเชื่อใคร

ความจริงหากยึดเอาหลักการทางวิชาการว่าด้วยตัวเลข และการคำนวณที่ถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ระหว่างสองหน่วยงานนี้มีตัวชี้วัดแบบไหน มีอะไรที่ต่างกัน จึงทำให้มองสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่ต่างกัน อย่างที่บอกไปแล้วว่าบางองค์กรก็อ้างความเป็นอิสระและอนุรักษนิยมสุดโต่ง จึงทำให้ต้องเล่นบทค้านไปเสียทุกอย่าง ยืนอยู่ตรงข้ามฝ่ายกุมอำนาจ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องพูดถึงพวกทำหน้าที่ชี้ขาด ที่จนถึงวันนี้ยังควานหาความไว้วางใจจากประชาชนได้ยาก

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของเศรษฐาในฐานะผู้นำก็ย่อมที่จะแสดงออกถึงการเปิดกว้างรับฟังความเห็น โชว์วิสัยทัศน์ในการที่จะมีแผนสำรองกรณีนโยบายหนึ่งนโยบายใดขับเคลื่อนไม่ได้ แต่ในฐานะคนทำงานและกุนซือคนสำคัญทั้งของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย ยืนยันหนักแน่น ดิจิทัลวอลเล็ตต้องไปต่อ การตั้งคำถามตามที่เป็นข่าวถือเป็นข้อพึงสังวรไม่ใช่ข้อพึงปฏิบัติ รัฐบาลจึงจะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อไป เพียงแต่นำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาร่วมรับฟังด้วยเท่านั้น

ฟังจากมุมของเสี่ยอ้วนก็ชวนให้คิด เนื่องจากเครื่องจักรเศรษฐกิจหลายตัวดับลงเกือบหมด ทำให้การนำเงินไปเพิ่มกำลังซื้อเพื่อขยับขึ้นมาหมุนวงจรเศรษฐกิจได้อีกหลายรอบ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ต คือการดึงประชาชนเข้ามากู้วิกฤตด้วยกัน แจกเงินคนละ 10,000 บาท ไม่ได้คำนึงถึงคนจนหรือรวย แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้สอย เพื่อให้เกิดบรรยากาศและการเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งจะช่วยขยับขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจทั้งหมด

ความเห็นของผู้จัดการรัฐบาลนั้น ทำให้มองเห็นภาพการขยับภาพใหญ่ทั้งรัฐบาลและพรรคแกนนำได้เป็นอย่างดี ต่อการตั้งธงที่จะใช้เป็นเหตุผลในการเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต นั่นก็คือ การฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เหมือนที่เสี่ยอ้วนบอกว่าควรไปถามประชาชน ที่มีข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 2 แสนราย กว่า 97% มองว่าวิกฤต ดังนั้น ต้องถามผู้ว่าฯ ธปท.ว่าเคยฟังหรือเคยดูข้อมูลเหล่านี้หรือไม่

ไม่เพียงแต่ประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้นที่มองเช่นนี้ หากถามนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ สตาร์ตอัพ ก็จะพูดเหมือนกันหมดว่าวิกฤต ทำให้วันนี้เถียงกันระหว่างเรื่องที่อยู่ในความเป็นจริงกับความฝัน การเติบโตของทุนนิยมในวันนี้ต้องคำนึงถึงความเป็นจริง และมีหัวใจ เป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ มากไปกว่านั้นความพยายามที่จะขัดขวางโครงการนี้ของรัฐบาลเศรษฐาย่อมหนีไม่พ้นพวกขาประจำ คนหน้าเดิมที่ไม่เอาระบอบอุปโลกน์อย่างระบอบทักษิณนั่นเอง

เหมือนที่ภูมิธรรมชี้ว่า ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ไทยเก่งในการทำนายเรื่องข้างหน้า จากนั้นปีถัดไปก็เก่งในการแก้ไขเรื่องที่ทำนายไว้ จากนั้นก็ทำนายปีถัดไปอีกครั้ง ตรงนี้จะต้องหันกลับมา เป็นความจริงที่ต้องยอมรับกันว่า บรรดาชนชั้นนำหรือพวกที่มีพลังทางสังคมแต่เลือกข้างนั้น หาได้มีความเป็นกลางไม่ เห็นได้ชัดจากการไม่ยอมปริปากวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ต่อรัฐบาลเผด็จการ คสช.และรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ จนทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลองกว่า 9 ปีที่ผ่านมา

Back to top button