พาราสาวะถี
หลายคนจับตามองการกลับมาทำหน้าที่ สส. ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีสีสันขึ้นมาหรือไม่
หลายคนจับตามองการกลับมาทำหน้าที่ สส.ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีสีสันขึ้นมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การได้กลับมาของประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลนั้น ทำให้จำนวนผู้แทนราษฎรในสภาฯ ครบจำนวน 500 คน เป็นสภาห้าร้อยอย่างสมบูรณ์ โดยต้องไปลุ้นกันอีกกระทอกสำหรับพรรคแกนนำฝ่ายค้านในคดีถูกร้องมาตรา 112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคมหรือวันพุธหน้า ซึ่งถ้ายึดตามคำร้องของผู้ยื่นก็จะไม่มีประเด็นการยุบพรรค
แต่ต้องรอฟังผล เพราะหากบทสรุปออกมาในลักษณะที่เป็นไปตามคำร้องของผู้ยื่น การกระทำของพรรคก้าวไกลในกรณีดังกล่าวเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการจะถูกยุบพรรค เพียงแต่ว่าศาลจะตัดสินทันที หรือต้องรอให้มีผู้ยื่นร้องก่อน ทั้งหมดทั้งมวลไม่อาจชี้ชัดฟันธงไปในทางหนึ่งทางใดได้ เนื่องจากจะเข้าข่ายก้าวล่วงและชี้นำศาลได้ จึงต้องไปลุ้นกันหน้างานสถานเดียว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด ทำให้รู้สึกเป็นห่วง กกต.ในฐานะต้นเรื่องที่ส่งให้ศาลวินิจฉัย รวมไปถึงการฟ้องดำเนินคดีอาญากับอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้วยข้อกล่าวหาว่า รู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติสมัคร สส. เพราะถือหุ้นกิจการสื่อแล้วยังมายื่นสมัคร สส.อีก หากฝ่ายผู้เสียหายฟ้องเอาผิด ก็น่าคิดในทางกลับข้างอยู่เหมือนกัน ชะตากรรมของผู้ดูแลการเลือกตั้งทั้งระบบของประเทศจะมีจุดจบแบบไหน
ตรรกะง่าย ๆ ที่ได้บอกไปก่อนหน้า ความจริงเรื่องนี้น่าจะจบในชั้นการพิจารณาของ กกต.เสียด้วยซ้ำ แต่กลับทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่ทั้งบ้านทั้งเมืองรู้ดีอยู่แล้ว แล้ว กกต.จะไม่รู้เลยหรือว่าไอทีวีไม่ใช่สื่อ ไม่ได้ดำเนินกิจการเกี่ยวข้องใด ๆ กับสื่อแล้ว ทั้งจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และการถูกยกเลิกสัญญาในการทำสื่อโทรทัศน์โดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2550 แล้ว แต่ทำไมถึงยังเดินหน้าเอาผิดอีก
จะอ้างว่ายังมีคดีที่รอศาลปกครองสูงสุดตัดสินอีก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยิ่งชัดเข้าไปอีก โดยระบุว่า ข้อพิพาทกรณีดังกล่าวหากในท้ายที่สุดแล้วบริษัท ไอทีวี เป็นฝ่ายชนะคดี ก็มิได้มีผลให้บริษัท ไอทีวี ได้รับมอบคืนคลื่นความถี่และดำเนินสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟอีก ข้อเท็จจริงปรากฏสรุปได้ว่า บริษัท ไอทีวี ไม่มีสิทธิในการประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2550 และการที่บริษัท ไอทีวี ยังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ ก็เพื่อการดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้น
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ การที่ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไอทีวี เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา บริษัท ไอทีวี ชนะคดี จะมีการพิจารณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริษัทว่า บริษัทจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งอาจจะประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือจะประกอบกิจการอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทตามข้อใดข้อหนึ่งจาก 45 ข้อก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต ยังไม่ได้มีการพิจารณาในขณะนั้น
อีกจุดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ ไม่รู้ว่า กกต.ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดแบบนี้หรือไม่ นั่นก็คือ แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ สปน.บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน อีกทั้งไม่พบข้อมูลหลักฐานว่าบริษัท ไอทีวี ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ปี 2550 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วิดีทัศน์ และสื่อโฆษณา ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551
น่าสนใจว่า กระบวนการสืบสวน สอบสวน เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยของ กกต.ทำกันอีท่าไหน ถึงไปฟันธงแบบมั่นอกมั่นใจว่าไอทีวียังเป็นสื่ออยู่ รอดูว่าพิธาและพรรคก้าวไกลจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ งานนี้แว่วว่า ไม่ใช่เฉพาะ กกต.เท่านั้นที่จะถูกเอาคืน พวกที่พยายามปลุกผีไอทีวีเหมือนที่พิธาเคยบอกไว้ ก็อยู่ในข่ายที่จะพิจารณาเอาผิดด้วย ซึ่งนั่นถือเป็นการเอาคืนกับการเสียโอกาสในการทำหน้าที่ สส. ส่วนเรื่องการชวดเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลนั้น ต่อให้ไม่มีคดีนี้ยังไงก็ไปถึงจุดนั้นไม่ได้
ขณะที่การรอดของพิธากับคะแนนนิยมของก้าวไกลเป็นสิ่งที่คาดเดากันได้อยู่แล้ว แต่ที่บรรดาคอการเมืองทั้งหลายให้ความสนใจกลับไปอยู่ที่ ขบวนการตัดตอนพรรคการเมือง ฝ่ายประชาธิปไตยยังคงจะเดินหน้าหาทางเล่นงานต่อไปอีกหรือไม่มากกว่า นับตั้งแต่ที่เพื่อไทยพลิกขั้วมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล มันทำให้เครือข่ายของอำนาจเก่าเสียศูนย์ ตั้งหลักไม่ทัน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับพรรคการเมืองไหนที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่ง
เมื่อเพื่อไทยก็จับมือกับพรรคของพวกอนุรักษนิยม แต่ยังคงเดินหน้าประชานิยมที่ถนัดและเป็นของแสลงสำหรับคนพวกนี้ อันจะเห็นได้จากความพยายามทุกวิถีทางในการจะสกัดนโยบายสำคัญของ เศรษฐา ทวีสิน และพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะต้านทานพลังของกลุ่มอีลิทที่เห็นดีเห็นงามกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่หนนี้หรือไม่ แม้จะทาสีให้พรรคนายใหญ่กลายเป็นพวกเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ไว้วางใจกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลที่ว่ายิ่งมีอำนาจยิ่งเป็นหนทางให้พรรคของ ทักษิณ ชินวัตร ได้สร้างคะแนนนิยม และกลับไปแข็งแกร่งได้เหมือนเดิม
ขณะที่พรรคก้าวไกล เห็นแล้วว่าไม่ได้ล้มง่าย ๆ ขณะเดียวกัน บางพวกก็ต้องการที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายเพื่อไทยให้ย่อยยับ แต่หากเป็นเช่นนั้น มันก็เท่ากับการเตะหมูเข้าปากหมา ด้วยภาวะเช่นนี้จึงทำให้มองกันว่า อาจถึงเวลาที่กระบวนการทางประชาธิปไตยได้กลับมาขับเคลื่อนเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยมีข้อแม้ว่า อย่าสร้างเงื่อนไขให้พวกหาเหตุมาอ้างยึดอำนาจได้อีก โจทย์แบบนี้ถ้าแกนนำรัฐบาลและฝ่ายค้านเล่นการเมืองกันอย่างสร้างสรรค์ก็น่าที่จะทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้