‘สมหวัง เงินสั่งได้-ประกัน’ เรือธง TISCO

ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน แต่กลุ่มทิสโก้ หรือ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ยังเชื่อมั่นว่าเดินมาถูกทาง


เส้นทางนักลงทุน

ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน แต่กลุ่มทิสโก้ หรือ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ยังเชื่อมั่นว่าเดินมาถูกทาง ในการชู “สมหวัง เงินสั่งได้” เป็นเรือธงในการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมทั้งในปีนี้จะมีการผลักดันเรือธงใหม่ นั่นคือ “ธุรกิจนายหน้าประกันภัย” ให้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น

กลุ่มทิสโก้มองว่าในปี 2567 นี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมล้อมหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย-ต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาภัยแล้ง ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน จากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และยุโรป

แม้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ระดับ 3-4% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออกกลับมาเติบโตและการลงทุนภาครัฐ-เอกชนเร่งตัวขึ้น ทำให้ต้องวางเป้าหมายในการบริหารจัดการอย่างรัดกุมในทุกด้าน เพื่อรักษาสมดุลในการรับมือความท้าทายต่าง ๆ

กลุ่มทิสโก้มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยจะขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) ในช่วง 0-10% ถือเป็นกรอบที่กว้าง ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงและความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

การชู “สมหวัง เงินสั่งได้” เน้นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นเรือธง คือการมุ่งขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ดังนั้นจึงตั้งเป้าขยายสาขาของ “สมหวัง เงินสั่งได้” อีก 200 สาขา ทำให้จะมีสาขารวมทั้งหมดมากถึง 850 สาขา เพื่อรักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ เน้นกลุ่มสินเชื่อรถมือสอง สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และสนับสนุนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้า และพลังงาน จะใช้จุดแข็งของการบริการแบบ Total Solution มาตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า เช่น การปรับหนี้ระยะสั้นของลูกค้าให้เป็นหนี้ระยะยาว จึงคาดว่าในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อ จะเติบโตได้ในระดับเดียวกับเศรษฐกิจไทย

ในปี 2567 นี้ กลุ่มทิสโก้ยังจะปั้นเรือธงใหม่ คือ “ธุรกิจนายหน้าประกันภัย” พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การวางแผนบริหารความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าในยุคปัจจุบัน โดยล่าสุดได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเจนเนอราลี่ในการออกกรมธรรม์ให้เหมาะสม

ส่วนธุรกิจธนบดีธนกิจและตลาดทุน เน้นให้บริการการให้คำแนะนำอย่างผู้เชี่ยวชาญแบบองค์รวม ครอบคลุมด้านการวางแผนการเงิน การลงทุน ความคุ้มครองด้านชีวิตและสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เน้นในปีนี้คือเงินฝาก กองทุนรวม และประกันชีวิต

นอกจากนี้ ทิสโก้ตั้งเป้าในการขยายฐานลูกค้ากลุ่ม Wealth ไปยังกลุ่ม Mass Affluent ที่มีเงินฝากและหรือเงินลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

ผู้บริหาร ระบุว่า จะรักษาความเป็นกลุ่มทิสโก้ จึงไม่มีแผนแตกแยกย่อยบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะรักษาการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ในระดับ 8-9% ถือเป็นระดับสูง แม้ในยามที่รายได้ลดลง

ผลประกอบการปี 2566 ของกลุ่มทิสโก้ มีกำไรสุทธิ 7,303 ล้านบาท ขยายตัว 1.1% จากปี 2565 จากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ท่ามกลางต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นถึง 93.9% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุน FIDF กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี

ขณะที่ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 6.4% จากธุรกิจตลาดทุนผันผวนรุนแรง ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงการรับรู้ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL) ประกอบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ชะลอตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง

ส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 8.7% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตามแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss-ECL) อยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย มีอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ที่ 189.8% เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงในปัจจุบันและการคาดการณ์ในอนาคต ทั้งนี้มีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับงวดปี 2566 อยู่ที่ 17.1%

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 234,815 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% จากปี 2565 จากสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่เติบโต 33% สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้” เพิ่มขึ้นกว่า 25% จากแผนการเปิดเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถยนต์

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.22% ของสินเชื่อรวม ส่วนหนึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตไปยังกลุ่มสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ประกอบกับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง

มีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.3% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.9% และ 3.5% ตามลำดับ

กลุ่มทิสโก้ดำเนินธุรกิจมายาวนานในปี 2567 นี้ ครบรอบ 55 ปีแล้ว โดยเป้าหมายในก้าวต่อไปของทิสโก้คือการเป็น Net Zero Commitment การสร้างความยั่งยืนทางการเงินส่วนบุคคล และเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน

Back to top button