พาราสาวะถี
ประเด็นการรีดเงิน ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ของ ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องคนดัง พร้อมพวกนั้น ทางฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีย่อมมั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่
ประเด็นการรีดเงิน ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ของ ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องคนดัง พร้อมพวกอย่าง ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก และ พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ นั้น ทางฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีย่อมมั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่ โดยเฉพาะคลิปเสียงที่ใครได้ฟังแล้วก็ย่อมรู้ว่าเป็นเสียงของใคร ยิ่งบางคนมีสำเนียงที่ติดตัวมายิ่งเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ ธัญญรัตน์ ไชยศิริคุณากร ภรรยาของอธิบดีก็เก็บหลักฐานไว้ทั้งหมด
ดังนั้น ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าบทสรุปของคดีที่ทำอยู่จะจบลงแบบไหน เพราะ ดนุเดช ศิริวงษ์ตระกุล ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายอธิบดีกรมการข้าว ชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีแรงกดดันมาจากฝ่ายการเมือง ที่ล่าสุดนักการเมือง “ป.” เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอให้อธิบดีกรมการข้าวและเมียบอกให้ทนายอย่าออกตัวแรง พร้อมสั่งให้ยุติบทบาท แถมด้วยการขู่โยงธุรกิจของภรรยาอธิบดีที่ทำธุรกิจฟาร์มหมูและฟาร์มไก่ ให้ไปเชื่อมโยงกับคดีหมูเถื่อนตีนไก่เถื่อนด้วย
ตรงนี้แหละเป็นการบ้านสำคัญที่ เศรษฐา ทวีสิน จะบอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล และหน้าที่ของกระทรวงที่ดูแลต้องไปจัดการเองไม่ได้ เนื่องจากสังคมให้ความสนใจ ยิ่งหากคนที่ถูกรีดเงินเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องช่วยกันปกป้อง เร่งรัดให้ปิดคดีสร้างความกระจ่างให้สังคมโดยเร็ว ประเด็นที่มีการลากเอาคดีหมูเถื่อนที่นายกฯ ย้ำว่าต้องสาวให้ถึงตัวการใหญ่ให้ได้ มาขู่ครอบครัวของอธิบดีนั้น ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายของขบวนการกังฉินเหล่านี้ว่าใหญ่โตขนาดไหน จึงปล่อยผ่านไม่ได้
ขณะเดียวกัน ก็อย่าลืมว่า 2 ใน 3 ผู้ต้องหานั้น เป็นคนที่รองนายกฯ ร่วมรัฐบาลตั้งเป็นคณะทำงานที่มีคำสั่งทางราชการชัดเจนด้วย แม้จะมีการอ้างว่ามีการปลดให้พ้นจากตำแหน่งแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ก็ต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่ประจักษ์ และต้องอธิบายให้ได้ด้วยว่า แล้วการยังคงลงพื้นที่ไปกับคณะทำงานที่ตัวเองมีชื่ออยู่โดยที่สังคมไม่ได้รับรู้ว่ามีการปลดไปแล้วนั้น มันหมายความว่าอย่างไร จะบอกว่าไปในนามส่วนตัวแต่ร่วมขบวนกับคณะทำงานของรองนายกฯ อย่างเปิดเผย การแก้ต่างน่าจะฟังไม่ขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น คดีนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด เพียงแค่การจับกุมมาดำเนินการเอาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง เพราะการเริ่มรีดเงินจากอธิบดีกรมการข้าวนั้น มีมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 แล้ว ซึ่งก็คือตั้งแต่ก่อนจะมีการตั้งเป็นคณะทำงานของรองนายกฯ และเมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งยิ่งทำให้มีการเบ่งกล้ามโชว์กันใหญ่โตไปอีก แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะที่เป็นไฮไลต์ของคดีนี้คือ สถานะของอดีตแกนนำเสื้อแดงผู้แปรพักตร์ระหว่างการทำผิดนั้น จะเป็นตัวชี้วัดโทษที่จะได้รับจากการทำความผิด รวมไปถึงผู้ร่วมขบวนการด้วย
ตามที่ทนายของอธิบดีกรมการข้าวว่า หากผู้ต้องหาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่เข้าข่ายมาตรา 173 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ที่ระบุว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ โทษที่จะได้รับสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ก็จะเหลือเพียงข้อหากรรโชกทรัพย์ซึ่งโทษเบากว่า และพี่ศรีซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดก็จะไม่ถือเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ก็จะได้รับโทษน้อยไปด้วย จุดนี้แหละที่เศรษฐาในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดูแลคดีต้องรอบคอบ รัดกุมเป็นพิเศษ
คงเหมือนที่ เดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ในฐานะเพื่อนของทนายอธิบดีกรมการข้าว ที่แนะนำให้เพื่อนนำหลักฐานสำคัญมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อให้ยากต่อการวิ่งเต้นล้มคดี ช่วยเหลือพวกพ้องกัน ไม่ต้องกลัวตาย พร้อมกับบอกไปยังตำรวจด้วยว่า “อย่าปอดแหก” ไม่ใช่สร้างภาพจน์ในที่สุดคดีก็หายไปต้องทำคดีถึงที่สุด อย่างที่บอกของพรรค์นี้มีเคสนี้แล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออีกหลายคน จะกล้าออกมาเปิดโปงเพื่อไม่ให้พวกที่ทำมาหากินบนความเดือดร้อนของคนอื่นได้ลอยนวล
ดิจิทัลวอลเล็ตยังมีแง่มุมให้กลายเป็นเรื่องร้อนได้ต่อเนื่อง วันอาทิตย์ที่ผ่านมา นิด้าโพลเปิดผลสำรวจความเห็นประชาชน 1,310 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.51 ระบุว่า ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน สรุปคือมองว่าเศรษฐกิจวิกฤต แต่ที่ย้อนแย้งกันคือ เมื่อถามต่อว่ารัฐบาลควรทำอย่างไรกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว ส่วนร้อยละ 33.66 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้
นั่นจึงทำให้เศรษฐาได้ตั้งคำถามย้อนกลับ โพลก็มีหลาย ๆ อย่าง ทั่วถึงหรือไม่ ถามคนที่จังหวัดหนองบัวลำภู บึงกาฬหรือไม่ ในฐานะนายกฯ ที่เดินสายไปหลายจังหวัดตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ทำหน้าที่มา เศรษฐายืนยันว่า เสียงที่ได้ฟังมาจากประชาชน “ไม่มีใครบอกว่าไม่ต้องการเลย” ท่าทีเช่นนี้ก็ทำให้ประเมินได้ไม่ยาก ทิศทางของนโยบายนี้ของรัฐบาลจะเดินกันอย่างไรต่อไป ชัดเจนว่า ทำแน่แต่อาจจะช้ากว่าไทม์ไลน์ที่วางไว้
ไม่เพียงแค่ท่าทีของเศรษฐาที่ทำให้เห็นว่าเดินหน้าแน่ ภูมิธรรม เวชยชัย ก็ย้ำหนักแน่นเหมือนกัน นโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาถือเป็นสัญญาผูกพันที่แจ้งไว้ต่อตัวแทนของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ส่วนจะดำเนินการหรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของส่วนต่าง ๆ ความเห็นของนิด้าโพล เป็นหนึ่งความเห็นเหมือนกับที่หลายหน่วยงานเสนอมา โดยเฉพาะหน่วยราชการที่มีหน้าที่ที่ต้องตอบสนองนโยบายรัฐบาล อ่านกันอย่างนี้ไม่มีถอยแน่นอน
นอกจากนั้น เสี่ยอ้วนยังพูดถึงความเห็นของ ป.ป.ช.ด้วยว่า เป็นเพียงข้อคิดเห็น เป็นเพียงจินตนาการว่าหากเป็นอย่างนี้จะมีปัญหาอย่างนั้น แต่ถือว่าเป็นความคิดเห็นที่ดีเป็นข้อเตือนใจ เป็นเพียงข้อสังวรไม่ใช่ข้อปฏิบัติ ฟังดูเหมือนท้าทายแต่ในฐานะรัฐบาลย่อมเลือกที่จะฟังเสียงประชาชนเป็นด้านหลัก เพราะภารกิจสำคัญของการเข้ามาทำหน้าที่คือยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ส่วนบางองค์กรนอกจากไม่ช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้นแล้วยังถูกกังขาเสียด้วยซ้ำว่าเลือกปฏิบัติ เห็นได้จากการดิ้นรนเรื่องการเปิดข้อมูลแหวนแม่นาฬิกาเพื่อน ที่ถูกสังคมมองด้วยความเคลือบแคลงว่าทำงานโปร่งใสจริงหรือ