ธนาคารเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2566 จำนวน 1,605.3 ล้านบาท ลดลงไปถึง 44.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2566 จำนวน 1,605.3 ล้านบาท ลดลงไปถึง 44.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน จนกระทั่งราคาซื้อขายบนกระดานล่าสุดอยู่ที่ 60 สตางค์ เทียบกับบุ๊กแวลูที่ 1.34 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำเกิน แต่ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะสภาพการแข่งขันของธนาคารทั้งในปัจจุบันและในอนาคตทำให้ตกอยู่ในสภาพเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านจากสาเหตุที่ต้นทุนในการระดมเงินฝากสูงกว่าคู่แข่งขัน และลูกค้าเงินกู้เป็นรายย่อยเสียส่วนใหญ่ซึ่งพร้อมจะทำให้เกิดสินเชื่อด้อยคุณภาพ
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย รายงานกำไรสุทธิ 1,605.3 ล้านบาท ลดลง 44.9% หรือ 1,305.5 ล้านบาททั้ง ๆ ที่รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.3% และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1.7% แต่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงมากถึง 17.9% เงินให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 245 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% เงินฝากอยู่ที่ 310.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% และอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ 124.2%
พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ยอมรับว่าสาเหตุที่กำไรสุทธิลดลงมากเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 สูงกว่าการเติบโตของรายได้ ประกอบกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.5 โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
ปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิมีความสัมพันธ์โดยตรงกับกำไรสุทธิที่ลดลงจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 เพิ่มขึ้นจำนวน 782.2 ล้านบาทหรือร้อยละ 10.0 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าภาษีอากร ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 62.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ ร้อยละ 57.7
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.2 พันล้านบาทยังคงสะท้อนให้เห็นปัญหาของลูกค้าธนาคารที่ยังต้องจัดการในอนาคตข้างหน้า อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.3 คงที่เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นผลจากการที่กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 124.2 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 114.6 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท จะเพิ่มแรงกดดันให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารขนาดเล็กแห่งนี้ต่อไปอีกยาวนาน
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 59.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 22.0 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.4 ซึ่งถือว่าต่ำมากและเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้เพิ่มทุนอีกระลอกใหม่ซึ่งจะกดดันให้ราคาหุ้นไม่ขยับขึ้นจากระดับราคาปัจจุบันซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
แรงกดดันนี้น่าจะยังติดค้างในใจนักลงทุนไปอีกนานและทำให้ราคาที่ต่ำกว่าบุ๊กแวลูขยับขึ้นยาก เว้นเสียแต่จะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น