พาราสาวะถีอรชุน
ตามสไตล์พรรคประชาธิปัตย์ ข่าวเรื่อง สุรินทร์ พิศสุวรรณ ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่วูบวาบสร้างกระแสช่วงสองสามวันที่ผ่านมา วันนี้ไม่มีอะไรให้เคลือบแคลงสงสัย เมื่ออดีตเลขาธิการอาเซียนออกมาปฏิเสธโดยโยนให้เป็นเรื่องของ “นักข่าวเขียนเชียร์แรงไป” ก่อนจะออกตัวแบบนิ่มๆ ว่ายังไม่ถึงเวลาพูดเรื่องพรรคเพราะรัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จ
ตามสไตล์พรรคประชาธิปัตย์ ข่าวเรื่อง สุรินทร์ พิศสุวรรณ ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่วูบวาบสร้างกระแสช่วงสองสามวันที่ผ่านมา วันนี้ไม่มีอะไรให้เคลือบแคลงสงสัย เมื่ออดีตเลขาธิการอาเซียนออกมาปฏิเสธโดยโยนให้เป็นเรื่องของ “นักข่าวเขียนเชียร์แรงไป” ก่อนจะออกตัวแบบนิ่มๆ ว่ายังไม่ถึงเวลาพูดเรื่องพรรคเพราะรัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จ
มันต้องเป็นเช่นนี้แล ภายใต้กลไกและกติกาของพรรคที่จะไม่กระโตกกระตาก แม้ใครจะอยากได้ใคร่เป็นอย่างไรก็ต้องเก็บอาการให้ได้ เพราะหากออกลีลามากไป ในยามที่พรรคได้ดิบได้ดีคนคนนั้นจะกลายเป็นบุคคลที่ถูกพรรคลืม ส่วนที่ไม่ต้องสงวนท่าทีและกลายเป็นตำบลกระสุนตกหนีไม่พ้น หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.
โดยมีสองอดีตส.ส.กทม.และบัญชีรายชื่อของพรรคอย่าง วิลาศ จันทรพิทักษ์ และ วัชระ เพชรทอง ช่วยสหบาทา เป็นเรื่องธรรมดาในจังหวะที่ดูแล้วกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเอื้อประโยชน์ให้พรรคเก่าแก่ จากเดิมทีที่คิดว่าจะได้อานิสงส์แต่ทำไปทำมากลายเป็นว่าการคุมกำเนิดไม่ได้ทำเฉพาะกับพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
อย่างที่รู้กันมาตั้งแต่ต้น การเล่นบทโหดเพื่อไม่ให้เสียของเที่ยวนี้ จะต้องมีพวกเดียวกันบางส่วนยอมเจ็บปวด เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกมาจะเอื้อประโยชน์ให้พรรคหนึ่งแล้วเล่นงานอีกพรรคหนึ่ง ผู้กุมอำนาจคงอยู่ลำบาก ดังนั้น จึงต้องกำจัดหรือไม่ก็จำกัดทั้งคู่ แล้วโยนให้เป็นเวทีของพรรคเล็กพรรคน้อย โดยมีเป้าหมายที่การเสนอชื่อคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ด้วยท่าทีและท่วงทำนองอันหนักแน่นของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่สืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้งกลางปี 2560 สปอตไลต์จึงฉายทับไปที่ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นับวันจะแสดงให้เห็นถึงบารมีที่สั่งสมมากำลังเจริญงอกงาม ถนนทุกสายวันนี้ล้วนแต่พินอบพิเทากับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
คงเป็นอย่างที่คาดหมายกันไว้นับตั้งแต่คสช.ยึดอำนาจ เมื่อบิ๊กตู่ประกาศนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศด้วยตัวเอง ย่อมทำให้บุคคลเบื้องหลังผิดหวังไม่น้อย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเก็บมาคิด เมื่อมีแผนไว้อยู่แล้ว หลังยึดอำนาจจะทำอะไรและจะเป็นยังไงต่อไป จึงมีการวางท่อต่อสายอำนาจไว้อย่างแยบยลและแนบเนียน รอเพียงร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเจียระไนกันอยู่เวลานี้เท่านั้นจะผ่านความประชามติมีผลบังคับใช้อย่างสง่างามหรือไม่
หากตกม้าตายคงจะไม่ง่ายเหมือนอย่างที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าก็ยกร่างกันใหม่ เพราะสถานการณ์ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นไปต้นไปซึ่งจะประจวบเหมาะกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้น ถึงขนาดที่ว่ามีชัยต้องเรียกร้องให้คนอื่นรับผิดชอบถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คงไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน
แต่ก็น่าเห็นใจด้วยโจทย์ที่รับมาต้องทำให้ทุกอย่างเนียนตา ไม่เรียกแขกสร้างกระแสต่อต้านเหมือนฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จึงเป็นเหตุผลให้มีชัยต้องใช้วิทยายุทธ์ทุกกระบวนท่าเพื่อไม่ให้พลาดท่าเสียที เสียยี่ห้อเนติบริกรชั้นครู ที่น่าสนใจคงเป็นเบื้องหลังการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าตัวที่จะเห็นได้ว่ารับใช้อำนาจเผด็จการมาโดยตลอด
การที่คิดว่ากำลังเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะตรงกับแนวทางที่เคยทำมาของมีชัย อย่างที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ตั้งข้อสังเกต ในอดีตมีชัยเคยบิดเบือนเจตนารมณ์ประชาธิปไตยจนทำให้ประเทศเกิดหายนะและประชาชนล้มตายจำนวนมากในเหตุการณ์เรียกร้องนายกรัฐมนตรีมาจากส.ส.เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2535 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
แต่บทเรียนครั้งนั้นคนอย่างมีชัยไม่เคยยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ดังนั้น การออกมาข่มขู่ว่าจะใช้ยาแรงเพื่อปราบนักการเมืองโกง จึงถูกตั้งคำถามว่า ยาแรงดังกล่าวควรเป็นยาที่มีมาตรฐานและต้องไม่ใช่ยาสั่งของผู้มีอำนาจ ที่มีเป้าหมายใช้เฉพาะนักการเมืองบางพรรคเท่านั้น ความจริงมีชัยต้องสร้างประชาธิปไตยที่คำนึงถึงอำนาจประชาชนโดยแท้จริง
สรุปแล้วก็คือ แทนที่จะเรียกร้องถามหาคนรับผิดชอบหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องเป็นมีชัยและชาวคณะนั่นแหละที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ อีกหนึ่งประเด็นที่จะเป็นบทพิสูจน์น้ำคำของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็คือ การยืนยันว่าจะไม่มีการบัญญัติคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือคปป.ไว้ในรัฐธรรมนูญ
คงจะเป็นเช่นนั้นเพราะความตั้งใจของกรธ.คือจะเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของบ้านเมือง แต่ก็เกิดคำถามตัวโตว่า องค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องและสร้างความสงบให้ประเทศได้จริงหรือ ต้องไม่ลืมว่า ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ผ่านมาองค์กรอิสระแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งต้นเหตุที่สำคัญ
สั่นสะเทือนไปทั้งวงการกับปฏิทินสองศรีพี่น้อง ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีนายอำเภอหรือบุคคลของรัฐนำไปแจกยังพอเข้าใจว่าเป็นเรื่องไม่สมควร ทว่าเหตุการณ์ล่าสุดที่อดีตนายกฯหญิงลงพื้นที่ทำบุญและพบปะประชาชนที่จังหวัดขอนแก่นแล้วพกปฏิทินดังว่าไปแจกด้วย กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจที่เฝ้าจับตาทุกฝีก้าวยึดไปจำนวนหนึ่ง
ภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวแม้กระทั่งแผ่นกระดาษที่มีรูปคนสองคนพร้อมปฏิทินซึ่งเป็นสิ่งปกติที่คนมีกำลังทรัพย์เขาจะทำแจกจ่ายกันในช่วงปีใหม่ ถ้าถึงขนาดทำบุญก็ไม่ได้ แจกปฏิทินก็ไม่ละเว้น เช่นนี้จะมีกฎหมายพิเศษและอำนาจไว้เพื่ออะไร เพราะกลัวแม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ขณะที่อีกด้านก็ถูกมองว่า ผู้มีอำนาจควรที่จะแยกแยะก่อนและหลังว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องอะไรคือธรรมเนียมปฏิบัติ