จีน กับ ตัวประกันพลวัต 2016

สมัยที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ คนมักจะกล่าวหาว่า สหรัฐฯกำลังหางจับชาวโลกเป็นตัวประกัน เพราะการที่ธนาคารกลางทั่วโลก ใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของตนเอง ไปซื้อหุ้นพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของอเมริกากันในสัดส่วนค่อนข้างสูง


วิษณุ โชลิตกุล

 

สมัยที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ คนมักจะกล่าวหาว่า สหรัฐฯกำลังหางจับชาวโลกเป็นตัวประกัน เพราะการที่ธนาคารกลางทั่วโลก ใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของตนเอง ไปซื้อหุ้นพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของอเมริกากันในสัดส่วนค่อนข้างสูง

มาวันนี้ ข้อกล่าวหาเดียวกัน กำลังจะเปลี่ยนพุ่งเป้ามาสู่จีนเสียแล้ว เพราะสิ่งที่จีนกำลังทำนับแต่เปิดปีใหม่ 2559 เป็นต้นมา และทำให้ราคาหุ้นในตลาดทั่วโลกปั่นป่วนอย่างไม่ทันตั้งตัวนั้น มีลักษณะเดียวกันการจับนัก

วันจันทร์ที่ผ่านมา PBoC หรือ ธนาคารกลางจีน ได้ประกาศมาตรการสำคัญคือ ปรับลดอัตราอ้างอิงของสกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐให้ลงมาอยู่ที่ 6.5032 CNY/USD ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2554 เลยทีเดียว

ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของจีนนั้น ยังเป็นระบบที่ล้าสมัย เพราะธนาคารจีนควบคุมด้วยการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันเพื่อบริหารจัดการให้มีความเหมาะสม ไม่ได้ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเสมือนในระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว

การปรับอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับดอลลาร์ถือเป็นกิจวัตรที่คุ้นเคยซึ่งตลาดเงินทั่วโลกจะต้องจับตามมอง เพราะหากมีการปรับลดลง หมายถึงค่าเงินหยวนจะลดลง แต่หากปรับขึ้น ค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจีน อ้างว่า เหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้คือ ต้องการให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกของตลาดมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนแข็งค่ามากเกินไป แต่คนในตลาดเงินรู้ดีว่า คำพูดที่ท่องมาแบบนกแก้วนกขุนทองดังกล่าว ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง

การปรับลดค่าเงินหยวน เกิดขึ้นหลังจากที่ตัวเลข PMI ของภาคการผลิตจีนในปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าคาดอย่างมาก ดังนั้น เมื่อข่าวการปรับลดค่าหยวนให้ต่ำสุดเทียบกับดอลลาร์ ผสมกับข่าวร้ายของเศรษฐกิจภาคการผลิตจีน ก็เป็นที่มาของการขายหุ้นทิ้งทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว เพราะด้านหนึ่งสะท้อนว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด แต่อีกด้านหนึ่ง จีนกำลังใช้นโยบายอัตราการแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม โดยการทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง

ผลจากการทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า  จะเกิดผลบวกไปสู่ภาคการส่งออก เพราะผู้ส่งออกจีน สามารถแข่งขันได้มากขึ้นกับคู่แข่งสินค้าเดียวกัน โดยแข่งกันลดค่าเงินกับประเทศอื่นๆ ด้วยการทำค่าเงินหยวนอ่อนอย่างจงใจ จะบอกว่าเข้าข่ายทำสงครามค่าเงินก็ว่าได้

อีกมุมหนึ่ง การลดค่าเงินหยวนทำให้ผู้นำเข้าในจีน ต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ทำให้ต้องลดการนำเข้าลง ยกเว้นแต่ว่าชาติผู้ขายสินค้าให้จีน จะต้องยินยอมลดราคาของตนเองลง ซึ่งในทางปฏบัติ ชาติที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จะต้องแบกรับภาระดังกล่าวแทนจีนโดยปริยาย เนื่องจากจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่

การลดค่าเงินหยวน ผสมกับการที่เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง หมายถึง การที่ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายจะถูกกดดันในเรื่องราคาอีกยาวนาน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ราคาน้ำมันจะกลับมาผันผวนเชิงลบอีกครั้งหลังจากปีใหม่มาแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะล่าสุด จีนยังคงต่อสู้กับสถานการณ์ที่รุมเร้าซึ่งมีคนเรียกว่า “ไฟไหม้บ้าน” นับแต่การแทรกแซงตลาดหุ้น และการอุดหนุนภาคการลิตสารพัดเพื่อให้ผ่านวิกฤตสินค้าล้นตลาดไปได้

นั่นหมายความว่า จากนี้ไป ปัญหาเรื่องการจัดการความมั่งคั่งของจีนที่ไม่สมดุล กำลังจะกลายเป็นปัญหาของชาวโลกเสียแล้ว

ที่สำคัญกว่านั้น นอกจากจีนจะทำการแก้ไขด้วยตัวเองแล้ว ยังมีทำการตัดตอนให้ปัญหาบางส่วนถูกผลักภาระความเดือนร้อนไปให้คนในชาติอื่นๆ ช่วยแบกด้วย เป็นการออมแรงของตนเองเอาไว้ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

ที่ผ่านมาในรอบ 20 ปี เศรษฐกิจจีนที่เป็นขาขึ้นยาวนานจากโมเดลเศรษฐกิจของ เติ้ง เสี่ยว ผิง ที่วางเอาไว้ ทำให้จีนมีส่วนเป็น “นักบุญ” ประคองให้โลกผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง แต่ในยามนี้ จีนที่เริ่มอ่อนแรงลง แม้ยังไม่หมดแรง หรือพังพินาศ ได้กลายเป็นตัวปัญหาและตัวถ่วงที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกไปแล้วอย่างเลี่ยงไม่พ้น

การเป็นผู้ซื้อสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่สุดของโลก และการเป็นชาติส่งออกสินค้าอันดับ 2 ของโลก ทำให้เมื่อจีนจำต้องลดการน้ำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ลง และเร่งระบายสต๊อกในประเทศไปยังชาตินำเข้าอื่นๆ ได้เกิดผลลัพธ์คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวงลงต่อเนื่อง จากปริมาณล้นเกินความต้องการของตลาด และในทางตรงกันข้าม การทุ่มตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและบริโภคโดยผู้ส่งออกของจีนอย่างเอาเป็นเอาตาย

ขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในยามนี้ ทำให้การที่จีนได้รับการยอมรับให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลสากลโดยทางทฤษฎีมีฐานะเทียบเท่ากับดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ ยูโรและเยนในตะกร้าคำนวณค่าเงินพิเศษที่เรียกว่า SDRs ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นับแต่วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นวันประวัติศาสตร์อีกครั้งของทุนนิยมโลก ไม่ได้หมายความว่า จีนจะสูญเสียอำนาจในการควบคุมค่าเงินหยวน

ในทางตรงกันข้าม ค่าเงินหยวนสากลกลับกลายเป็นเครื่องมือของจีนในการควบคุมและจับชาวโลกเป็นตัวประกันอย่างกระชับมือมากขึ้น เพราะจีนยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนตายตัวหรือแบบมีการบริหาร ที่ไม่ใช่ระบบลอยตัวเหมือนชาติทุนนิยมอื่นๆ

ค่าเงินหยวนอาจจะมีค่าแปรผันในตลาดเงินตราระหว่างประเทศมากขึ้นก็จริง แต่การควบคุมเงินหยวนของทางการจีนจะกลายเป็นประเด็นให้ตลาดเงินต้องจับตากันต่อทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะมีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้น ตลาดเงิน และตลาดการลงทุนทั่วโลก โดยที่จีนยังคงให้ข้ออ้างเก่าแก่เรื่องสุขภาพของเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง

ทุกวันนี้ แรงกดดันให้ให้จีนลอยตัวค่าหยวนเพื่อให้แข็งค่าตามความเป็นจริงจากชาติทุนนิยมโลกได้จบสิ้นเป็นอดีตไปแล้ว แต่จีนกำลังทำให้เงินหยวนกลายเป็นประเด็นใหม่ขึ้นมาในเศรษฐกิจโลก เพราะเงินหยวนจะควบคุมระบบทุนนิยมอย่างกระชับมากยิ่งขึ้น

นี่เป็นประเด็นที่ท้าทายการค้นหาคำตอบของนักลงทุนในยุคสมัยนี้อย่างยิ่ง

Back to top button