เก็งแบงก์รับปันผล
วานนี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเกิดการเข้ามาเก็งกำไรกันพอสมควร นำโดย TTB BBL KKP ทั้ง 3 แบงก์ราคาปิดในแดนบวก ส่วนธนาคารอื่น ๆ ระหว่างวันราคาขยับขึ้นน่าสนใจ
วานนี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเกิดการเข้ามาเก็งกำไรกันพอสมควร
นำโดยธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) TTB
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) KKP
ทั้ง 3 แบงก์ราคาปิดในแดนบวก
ส่วนธนาคารอื่น ๆ ที่ระหว่างวันราคาขยับขึ้นมาน่าสนใจคือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBANK ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) SCB
และยังรวมถึง บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ที่มีการเข้ามาเก็งกำไรก่อนหน้านี้แล้ว
เหตุที่หุ้นแบงก์ขยับขึ้นมาจากการคาดหวังเงินปันผล
โดยแต่ละแบงก์น่าจะเริ่มประกาศในช่วงกลางเดือน กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป
และจะไปขึ้นเครื่องหมาย XD กันในช่วงเดือน เมษายน และจ่ายเงินปันผลช่วงเดือน พฤษภาคม
หุ้นแบงก์ที่มีการคำนวณการจ่ายเงินปันผลที่มี อัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) น่าสนใจ เช่น TISCO TTB KKP SCB KTB และ BBL
ล่าสุด บล.กสิกรไทย (KS) เขามีการคำนวณยีลด์ปันผลของแต่ละแบงก์ไว้
อย่าง BBL ให้ราคาเป้าหมาย 196.00 บาท ดาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลปี 2567 อยู่ที่ 6.89% ส่วน 2566 อยู่ที่ 4.51%
SCB ราคาเป้าหมาย 108.00 บาท คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลปี 2567 อยู่ที่ 7.91% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 4.07%
KTB ราคาเป้าหมาย 24.75 บาท คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผล ปี 2567 อยู่ที่ 8.23% ขณะที่ ปี 2566 อยู่ที่ 6.33%
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ราคาเป้าหมาย 32.50 บาท คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลปี 2567 อยู่ที่ 5.21% ขณะที่ปี 2566 อยู่ที่ 3.72%
TTB แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 2.00 บาท คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลปี 2567 อยู่ที่ 7.26% ขณะที่ปี 2566 อยู่ที่ 2.79%
TISCO ราคาเป้าหมาย 100.00 บาท คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลปี 2567 อยู่ที่ 7.39% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 5.37%
KKP แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 54.75 บาท คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลปี 2567 อยู่ที่ 6.86% ปี 2566 อยู่ที่ 4.27%
จะเห็นได้ว่า TISCO TTB และ SCB มียีลด์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับปี 2567
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะมีการให้ข้อมูลจากผู้บริหารของธนาคารว่า อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นในปัจจุบันของธนาคารเพียงพอแล้ว
ขณะที่เป้าหมายร่วมของผู้บริหารในปี 2567 คือการมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงขึ้น
ทำให้มองว่าการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปรับปรุง ROE ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเพื่อเพิ่มการเติบโตให้พอร์ตสินเชื่อ
ด้าน บล.หยวนต้า คาดว่า TTB จะมีปันผลจ่ายจากกำไรสุทธิในครึ่งปีหลังของปี 66 อีกหุ้นละ 0.05 บาท
คิดเป็น Dividend Yield ระหว่าง 2.8-3%
และยังเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ
ทั้งนี้ จากการรับรู้ผลประโยชน์ทางภาษี หรือ Tax Shield หลังเสร็จสิ้นการควบรวมธนาคารธนชาต (TBANK)
โดยยังมีผลประโยชน์ทางภาษีเหลืออีก 15,500 ล้านบาท ที่สามารถทยอยใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาษีได้จนถึงปี 2571
ทำให้ช่วยจำกัด Downside จากการตั้งสำรองพิเศษในอนาคต
ราคาหุ้นของ TTB วานนี้จึงปรับตัวขึ้นนำกลุ่มฯ