ย้อนไทม์ไลน์ KEX ก่อนถูกเทกโอเวอร์

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เป็นที่รู้จักของประชาชนในวงกว้าง ในฐานะผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนรายแรกและรายใหญ่ในประเทศไทย


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ S.F. Holding Co., Ltd. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ได้ประกาศเจตนารมณ์เทกโอเวอร์บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX

โดยจะทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้นสามัญของ KEX จำนวนทั้งสิ้น 1,275,202,145 หุ้น คิดเป็น 73.18% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ราคาเสนอซื้อต่อหน่วยอยู่ที่ 5.50 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอซื้อ 7,013,611,797.50 บาท

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เป็นที่รู้จักของประชาชนในวงกว้าง ในฐานะผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนรายแรกและรายใหญ่ในประเทศไทย เป็นบริษัทที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง

ก่อนหน้านี้ Kerry Logistics Network Limited (KLN) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อม ถือหุ้น 49% และเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงข้างมากใน KLNTH โดยทางอ้อม แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2566 ว่าได้ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลพิเศษแบบมีเงื่อนไขด้วยหุ้นทั้งหมดของ KEX ที่ KLN ถืออยู่ทางอ้อมผ่าน KLNTH จำนวน 907,200,000 หุ้น คิดเป็นประมาณ 52.1% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ KEX ให้แก่ผู้ถือหุ้น KLN ตามสัดส่วนที่ถืออยู่ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (record date) อัตราส่วนการปันผลที่ 0.5019 หุ้นของ KEX ต่อ 1 หุ้น KLN

โดยมีเงื่อนไขว่า KLN จะต้องได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติตามหน้าที่การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต)

นอกจากนี้ บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (SFTH) ซึ่งปัจจุบันถือหุ้น KEX จำนวน 1,000 หุ้น และจะเข้าถือหุ้นของบริษัทอีก 467,373,855 หุ้น จากการรับโอนมาจาก Flourish Harmony Holdings Company Limited (FHHL) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของ KLN ซึ่งจะเป็นผลให้ SFTH ถือหุ้น KEX ราว 26.8% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท และมีหน้าที่ต้องทำเทนเดอร์ฯ นอกเหนือจากส่วนที่ SFTH ถือ

ทั้งนี้ KEX จะไม่เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ การประกอบธุรกิจหลัก/ทรัพย์สินหลัก แผนการบริหารจัดการธุรกิจ แผนการลงทุน การบริหารจัดการ โครงสร้างทางการเงิน หรือนโยบายการจ่ายเงินปันผล ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ภายในระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการทำคำเสนอซื้อ และ SFTH ไม่มีความตั้งใจที่จะเพิกถอนหลักทรัพย์ของกิจการออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

หากย้อนไทม์ไลน์ถอยหลังกลับไป KEX ได้เข้าซื้อขายในตลท.วันแรก เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2563 โดยทันทีที่เปิดตลาดพบว่าราคาหุ้น KEX ขึ้นไปแตะ 65 บาท มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 73 บาท และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 46 บาท จากราคาออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 28 บาท

ในขณะนั้น KEX ขายหุ้น IPO จำนวน 300 ล้านหุ้น ระดมทุนได้ทั้งสิ้น 8,400 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจและชำระคืนเงินกู้สถาบัน มีจุดเด่นคือความต้องการใช้บริการจัดส่งพัสดุด่วนที่มีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย KEX เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันจากจำนวนจุดให้บริการที่ครอบคลุมทุกจังหวัด สามารถจัดส่งสินค้าทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 หุ้น KEX มีแรงเก็งกำไรหนัก เพราะความต้องการส่งของออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นหนัก ประกอบกับ กลุ่ม BTS ได้เข้าซื้อ KEX เพิ่มรวมกันทั้งหมด 1.9873% ทำให้สัดส่วนการถือรวมประมาณ 21%

แต่ปัจจุบัน (6 ก.พ. 2567) ราคากลับลดลงเหลือเพียง 5.60 บาทเท่านั้น หากนับตั้งแต่จุดสูงสุดในวัน IPO ถึงปัจจุบัน KEX ปรับตัวลดลงมากกว่า 92%

เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังผลประกอบการปี 2563 จากรายได้ปรับตัวลดลง 4.4% แตะ 18,917 ล้านบาท หลังบริษัทปรับกลยุทธ์ลดค่าส่งสินค้าเพื่อตีตลาดขนส่งแบบราคาประหยัดเพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมขนส่งที่รุนแรง

ในปี 2564 กำไรของ KEX เริ่มหดตัว โดยกำไรไตรมาส 1/2564 ลดเหลือ 302 ล้านบาท หดตัว 18.7% จากปีก่อน ส่งผลนักลงทุนเกิดความกังวล

ผลการลดราคาค่าส่งสินค้าเริ่มชัดเจนในไตรมาส 3/2564 แม้ปริมาณการจัดส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 46% ทำรายได้เพิ่มขึ้น 18.8% แต่กลับกำไรวูบหนัก 95.61% จากปีก่อน เหลือเพียง 12.84 ล้านบาท รับการแข่งขันในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าที่รุนแรงจากการหั่นราคาขนส่ง

ประกอบกับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ส่วนไตรมาส 4/2564 แม้รายได้เพิ่มขึ้น 11% แต่ต้นทุนที่เพิ่มแตะ 42% ทำให้ KEX มีผลขาดทุนแตะ 604 ล้านบาท ทั้งปี 2564 มีกำไรสุทธิเพียง 46.92 ล้านบาท ทรุดลง 1,358.11 ล้านบาท คิดเป็น 96.66% เทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิถึง 1,405.03 ล้านบาท

ปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ต้นทุนการขนส่งของ KEX จึงปรับเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผลขาดทุนหนักถึง 2,829 ล้านบาท มีรายได้รวม 17,145.04 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนของปี 2566 KEX มีรายได้รวม 8,994.98 ล้านบาท มีผลขาดทุนสุทธิ 2,725.09 ล้านบาท

ณ วันที่ 28 ก.พ. 2566 มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.บริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (KLNTH) ถือหุ้นจำนวน 907,200,000 หุ้น คิดเป็น 52.06%

2.บริษัท วี จี ไอ จำกัด (มหาชน) จำนวน 269,230,900 หุ้น สัดส่วน 15.45% 3.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 88,100,000 หุ้น สัดส่วน 5.06% 4.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 24,344,019 หุ้น สัดส่วน 1.40% 5.MR.KIN HANG NG จำนวน 20,982,400 สัดส่วน 1.20%

6.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000,000 สัดส่วน 0.98% 7.นายทวีฉัตร จุฬางกูร จำนวน 16,850,300 หุ้น สัดส่วน 0.97% 8.CITI (NOMINEES) LIMITED-CITIC SECURITIES BROKERAGE (HK) LIMITED AC CLIENT จำนวน 14,875,500 หุ้น สัดส่วน 0.85%

9.CITIBANK NOMINEES SINGAPORE PTE LTD-A/C GIC C จำนวน 13,040,240 หุ้น สัดส่วน 0.75 % และ 10.CREDIT SUISSE AG, SINGAPORE BRANCH จำนวน 12,120,900 หุ้น สัดส่วน 0.70%

ล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่ม BTS จะขายหุ้น KEX ออก ขณะที่นักลงทุนทั่วไปก็น่าจะเป็นโอกาสขายในช่วงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์เช่นกัน

Back to top button