BAY กับก้าวใหม่ในเวียดนาม

หลังจากประกาศงบการเงินงวดสิ้นปี 2566 ที่มีกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนต่ำกว่า 15% ผู้บริหารของ BAY ธนาคารขนาดกลางของประเทศไทยก็เร่งประกาศแผนธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน


หลังจากประกาศงบการเงินงวดสิ้นปี 2566 ที่มีกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนต่ำกว่า 15% ผู้บริหารของ BAY ธนาคารขนาดกลางของประเทศไทยก็เร่งประกาศแผนธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วยการเร่งบุกตลาดอาเซียนโดยเฉพาะตลาดในเวียดนาม แผนการบุกตลาดเวียดนามครั้งนี้นำโดยบริษัท MUFG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารแห่งนี้ โดย MUFG อาศัยความชำนาญจากการบุกเบิกตลาดอาเซียนที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้บทบาทของ BAY เปลี่ยนไป กล่าวคือ เป็นทั้งหัวหอก MUFG และอาศัยเครือข่าย MUFG บุกเบิกตลาดอาเซียนพร้อมกันไป

ทั้งนี้เพราะเหตุผลที่ว่า MUFG เป็นธนาคารใหญ่อันดับ 1 ของญี่ปุ่นที่มีความชำนาญในตลาด Investment banking (IB) อย่างโชกโชนมาก่อนที่จะเข้ามาทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทย  ดังนั้นด้วยประสบการณ์ของทั้ง MUFG และ BAY จะทำให้เกิดความมั่นใจในการบุกตลาดเวียดนามที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแม้จะมีขนาดเล็กกว่าตลาดการเงินของไทยอย่างมากก็ตาม

นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พร้อมกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารได้เปิดแถลงประกาศแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ (Medium-Term Business Plan: MTBP) ครอบคลุมปี 2567-2569 ว่า พร้อมมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” โดยแกนหลักสำคัญสามประการ คือ ขับเคลื่อนสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลสู่อนาคตที่มั่นคง เชื่อมโยงอาเซียนผ่านศักยภาพอันแข็งแกร่งของกรุงศรีฯ และ MUFG เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจหลักของธนาคารเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจหลักของอาเซียนโดยเน้นที่เวียดนามที่มีการเติบโตสูงสุดในอาเซียน

โดยเริ่มตั้งแต่หนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน และจับมือพันธมิตร ดันสตาร์ทอัพเวียดนามสู่สากลผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงและความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางธุรกิจครั้งสำคัญกับศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม (Vietnam National Innovation Center หรือ NIC) เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ พร้อมผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศเวียดนามให้สามารถเติบโตก้าวไกลในระดับสากล โดยตั้งเป้ามุ่งมั่นดำเนินธุรกิจสู่การเป็น Innovative Bank พร้อมเดินหน้าสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาด้านดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนสถาบันการเงินให้เติบโตก้าวไกลในระดับภูมิภาค

จากการสำรวจโดย JETRO พบว่าในปีที่ผ่านมามีนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้ความสนใจในการลงทุนกับเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ BAY เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามได้อย่างแน่นอน

นายอู ค็อก ฮุย ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม (Vietnam National Innovation Center หรือ NIC) กล่าวว่า “NIC มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรุงศรีฯ และ MUFG ในครั้งนี้ ทั้งนี้เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและนักลงทุนจากประเทศไทยและญี่ปุ่นที่ต้องการลงทุนในธุรกิจสายเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเวียดนามให้รุดหน้าและตอบโจทย์ตลาดในระดับสากล ขณะเดียวกัน เราพร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพจากประเทศไทย ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่กำลังมองหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจในเวียดนามอีกด้วย”

การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี นายเคนอิจิ ยามาโตะ นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายอู ค็อก ฮุย ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม (NIC) นายมาซาโอะ โคจิมะ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าส่วนภูมิภาคประจำประเทศเวียดนาม ธนาคารเอ็มยูเอฟจี จำกัด (MUFG Bank) นายโนบูทาเกะ ซูซูกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็มยูเอฟจี อินโนเวชัน พาร์ทเนอร์ (MUIP) และนายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ร่วมลงนาม โดยมีระยะเวลาของแผนการดำเนินงานใน 5 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่

การส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพเวียดนามในระดับสากลผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของกรุงศรีฯ และ MUFG  การแบ่งปันความรู้ และแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพในเวียดนามผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยกรุงศรีฟินโนเวต และ MUFG อาทิ โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Accelerator Program) เป็นต้น การจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพในเวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศอื่น ๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจ รวมทั้งโอกาสการลงทุนในระดับสากลการสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มดาต้าและข้อมูล ที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการของธุรกิจสตาร์ทอัพในเวียดนาม และด้านอื่น ๆ ของ NIC

ก้าวย่างครั้งนี้น่าจะผลักดันให้ BAY มีความชัดเจนในทางยุทธศาสตร์มากขึ้นหลังจากที่ปีที่ผ่านมาทำกำไรเติบโตช้าที่สุดโดยมีกำไรแค่ 3.29 หมื่นล้านเทียบกับปี 65 กําไรที่ 3.07 หมื่นล้านบาท กําไรต่อหุ้น 4.48 บาท  จนกระทั่งราคาหุ้นบนกระดานซื้อขายต่ำกว่า 27.00 บาท ทั้งที่บุ๊กแวลูราคา 49 บาท ถือว่าต่ำเกินไป

ทิศทางใหม่ของ BAY โดยการเกาะติดไปกับ MUFG ในตลาดเวียดนามถือเป็นก้าวใหม่ที่น่าจับตามองของธนาคารไทยที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดเป็นญี่ปุ่น

Back to top button