พาราสาวะถีอรชุน

ไปได้น้ำขุ่นๆ จริงๆ สำหรับท่านผู้นำเมื่อถูกถามเรื่องของราคายางพาราที่ตกต่ำโงหัวไม่ขึ้น ท่านก็ตอบว่ารัฐบาลไม่มีปัญญาหาเงินมาแทรกแซงราคา หากจะต้องทำเช่นนั้นจะให้ไปยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคหรืออย่างไร แค่นี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าที่เคยพูดบริหารประเทศไม่เห็นยากตรงไหนนั้น ถ้าเป็นประสาชาวบ้านเขาเรียกว่าพูดพล่อยๆ


ไปได้น้ำขุ่นๆ จริงๆ สำหรับท่านผู้นำเมื่อถูกถามเรื่องของราคายางพาราที่ตกต่ำโงหัวไม่ขึ้น ท่านก็ตอบว่ารัฐบาลไม่มีปัญญาหาเงินมาแทรกแซงราคา หากจะต้องทำเช่นนั้นจะให้ไปยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคหรืออย่างไร แค่นี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าที่เคยพูดบริหารประเทศไม่เห็นยากตรงไหนนั้น ถ้าเป็นประสาชาวบ้านเขาเรียกว่าพูดพล่อยๆ

ความจริงเรื่องงบประมาณที่ยกมาอ้างนั้น หากเป็นผู้บริหารที่ดีย่อมรู้ว่าจะมีหนทางหามาจากไหนเพื่อบริหารให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างที่ท่านทั้งหลายยกมาเป็นสโลแกน แทนที่จะเที่ยวกล่าวหาว่าประชาชนหรือเกษตรกรเป็นภาระ ภาระหนักทั้งหมดเป็นหน้าที่ของผู้อาสาเข้ามาทำงานที่จะต้องบริหารจัดการให้เป็น ถ้าทำไม่ได้ก็ควรพิจารณาตัวเอง

ประเด็นที่ว่าโครงการ 30 บาทไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลหรือรัฐบาลเจ๊ง มีบทความทางวิชาการมายืนยันโดย ด๊อกเตอร์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แยกแยะประเด็นต่างๆเพื่อให้สังคมเกิดความกระจ่าง โดยเริ่มต้นที่มุมมองด้านเศรษฐกิจการเมืองและงบประมาณความเข้าใจผิดด้านการจัดการงบประมาณ

งบรายหัวไม่ใช่เรื่องใหม่ การจัดทำงบประมาณด้านสาธารณสุขถูกกางผ่านงบประมาณรายหัวมานานแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้การได้รับการรักษา เป็นไปผ่านระบบพิสูจน์สิทธิ์ผู้มีรายได้น้อย ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการได้ รัฐบาลทักษิณจึงประยุกต์แนวคิดของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ด้วยการปรับงบประมาณรายหัวสู่การเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” และขยายสิทธิ์สู่ประชาชนทุกคน

เป็นเมกะโปรเจ็คต์ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการบริหารจัดการผ่านกลไกการควบคุมอุปสงค์คือการทำให้คนไข้กล้ามาหาหมอ อุปสงค์ของโครงการก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง สำหรับนโยบายภาครัฐการเจ๊ง” หรือไม่ ตัวชี้วัดคือการที่มีคนมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำให้แผนนโยบายและงบประมาณเกิดผลสัมฤทธิ์ โครงการบ้านเอื้ออาทรแม้จะเป็นสวัสดิการพื้นฐานเช่นเดียวกันก็ประสบความล้มเหลวเพราะไม่สามารถสร้างอุปสงค์ได้ตามแนวทาง Keyesian ที่ทักษิณยึดถือในช่วงแรก

ดังนั้นหากจะบอกว่าโครงการนี้ทำให้รัฐบาลขาดทุนหรือล้มละลายในตัวเองย่อมเป็นเรื่องตลก เพราะงบประมาณข้างต้นคืองบประมาณด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว หรือหากจะบอกว่ามีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว แม้ประเทศไทยจะมีประชากรเพิ่มขึ้นปีละประมาณ  2 แสนคน(อัตรานี้มีแนวโน้มลดลง) แต่แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐก็เพิ่มขึ้น

เป็นการเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท อันหมายความว่า ประชาชน 1 คนจะได้งบประมาณจากรัฐปีละ 50,000 บาท ซึ่งคือที่มาของตัวเลข 4% กว่าๆที่ประกันสุขภาพได้รับจากจีดีพีของประเทศ หรือในเงิน 100 บาทรัฐแบ่งปัน 4 บาท เพื่อดูแลสุขภาพแก่ประชาชน ในขณะเดียวกันงบประมาณ 2% ของประเทศถูกกันไว้สำหรับกระทรวงกลาโหมและกองทัพ

หากถามว่า 4% นี้เยอะหรือไม่รายงานจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO แสดงให้เห็นว่า ค่ากลางของงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศทั่วโลกคือ 6% หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศยากจน-ปานกลาง ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ประเทศไทยไม่ได้อุดหนุนงบด้านนี้มากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับนานาประเทศหรือกระทั่งกลุ่มประเทศรายได้ใกล้เคียงกัน

ระบบประกันสุขภาพของไทยเป็นที่พูดถึงและตบหน้าประเทศ OECD และประเทศกลุ่มรายได้ระดับเดียวกันว่า การดูแลสุขภาพของประชาชนไม่จำเป็นต้องให้ประเทศคุณร่ำรวยก่อนแต่สามารถทำได้เลย ดังนั้น งบประมาณจึงไม่ใช่ปัญหาและไม่เคยเป็นปัญหา แม้จะมีปัญหาด้านการบริหารจัดการแต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะเข้าไปกระทบเนื้อแท้ของตัวระบบสวัสดิการ

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิ่งที่ต้องแก้ไข มันก็ยังมีบางอย่างที่เป็นปัญหา เช่น การรวมศูนย์นโยบาย การขาดแคลนของงบประมาณส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ข้ออ้างในการยกเลิกแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนั้นคำถามที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารประเทศก็คือ ใครกันที่อยากจะยกเลิกโครงการนี้ และก็ถามกันต่อว่า ถ้ายกเลิกแล้วไม่เป็นผลดีต่อใคร

รัฐบาลอำนาจนิยมที่รับใช้ระบบเสรีนิยมใหม่ ต้องพยายามจำกัดสวัสดิการของประชาชนอยู่แล้ว ประเทศไทยไม่ได้ยืนเดียวดาย ฝ่ายขวาทั่วโลกก็มีความพยายามแบบนี้เช่นกัน เช่น อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น เพราะเพียงพวกเขากลัวว่า ภาระจะต้องมาตกที่คนรวยหยิบมือเดียวของประเทศ ซึ่งจะถูกบังคับให้จ่ายภาษีอัตราก้าวหน้าเลี้ยงคนจน

มันคือทางออกพื้นฐานถ้าจะให้คนส่วนมากในประเทศอยู่ได้ก็ต้องเก็บจากคนถือครองทรัพยากรส่วนมากซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อย (ซึ่งความมั่งคั่งของพวกเขาก็ได้จากความยากจนของคนในประเทศ) เป็นการเดิมพันของกลุ่มทุนและรัฐที่รับใช้กลุ่มทุนอย่างใกล้ชิด พวกเขาเลือกที่จะวางระบบให้ผู้คนดิ้นรนเพื่อที่จะได้ทำงานหนักและไม่มีเวลามาตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจการเมืองใด

ด้วยการตั้งคำถามเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของบทสรุปที่สำคัญว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะปลอดภัยภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ขณะเดียวกันการไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะทำให้ความมั่นคงในชีวิตของคนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน ที่จะต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปยังผู้มีอำนาจว่ากล้าที่จะซ้ำเติมทำร้ายคนเหล่านี้ด้วยการร่วมจ่ายตามแนวทางประชารัฐที่ท่านบอกว่าไม่ใช่ประชานิยมเช่นนั้นหรือ 

Back to top button