อนาคตหุ้นน้ำมันพลวัต 2016
นับจากปลายปีเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และล่าสุด อาจจะลุกลามไปถึงปลายปีนี้ ถือได้ว่าเป็นตลาดขาลงของน้ำมัน และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันทั้งหลาย รวมทั้งปิโตรเคมีต้นน้ำและกลางน้ำไปด้วย
วิษณุ โชลิตกุล
นับจากปลายปีเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และล่าสุด อาจจะลุกลามไปถึงปลายปีนี้ ถือได้ว่าเป็นตลาดขาลงของน้ำมัน และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันทั้งหลาย รวมทั้งปิโตรเคมีต้นน้ำและกลางน้ำไปด้วย
หุ้นน้ำมัน กลายเป็นหุ้นที่ฉุดตลาดไม่ให้เป็นขาขึ้นเกือบทุกตลาดทั่วโลก
ยามขาลง หรือ “น้ำลดตอผุด”เช่นนี้ นักการเงินที่ติดตามหรือดูแลธุรกิจนี้อยู่ บอกว่าผลพวงในอนาคต หากสถานการณ์นี้จะดำรงอยู่ยาวนานไปมากเท่าใด จะเกิดปรากฏการณ์ปกติที่ธุรกิจนี้จะต้องดำเนินการเพื่อหาทางออกจากปัญหาที่เกิดขึ้น จะเรียกว่าเป็นทางสามแพร่งก็ว่าได้ นั่นคือ
-การนำเอามาตรการ ลดหรือเลื่อนการลงทุน เริ่มตั้งแต่ธุรกิจที่ไม่ทำกำไร การขายสินทรัพย์ การลดคนงาน ปรับหนี้ลดต้นทุน ปรับลดต้นทุนเทคโนโลยี และใช้วิศวกรรมการเงินเพื่อลดภาระหนี้ หรือ ดี/อี ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีปัญหาแตกต่างกันไป และมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน
-เพิ่มจ่ายปันผลหรือรักษาปันผลเท่าเดิม รวมทั้งมาตรการซื้อหุ้นคืน เพราะรักษามูลค่าตลาดหรือมาร์เก็ตแคป และรักษาความภักดีของนักลงทุนโดยเพาะกองทุนและนักลงทุนสถาบันทั้งหลาย
-หาทางควบรวมกิจการเพื่อประหยัดโดยขนาด (ในกรณีข้ามประเทศ) และลดการแข่งขันลง (กรณีในประเทศ) ซึ่งจะทำให้เมื่อพ้นจากขาลงกลับเป็นขาขึ้นระลอกใหม่ หุ้นยักษ์ใหญ่ จะกลายเป็นหุ้นที่ชี้นำทิศทางของตลาดหุ้นโดยปริยาย จากขนาดและมาร์เก็ตแคปที่ใหญ่โต
โดยทั่วไป เรามักจะเชื่อกันว่า หากต้นทุนพลังงาน ซึ่งผลักภาระไปให้กับราคาสินค้าจำนวนมากในท้องตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อมลดลง จะทำให้เศรษฐกิจสดใสมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงจากการที่ราคาน้ำมันลดลงทั่วโลกยามนี้ สะท้อนว่า ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นกี่มากน้อย ในทางกลับกัน กลับทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อติดลบหรือเงินฝืดขึ้นมา
สิ่งที่คนทั่วไปไม่ได้พูดถึง หรือพูดแบบเข้าใจผิดคือ น้ำมันที่ราคาถูกลง ทำให้เงินฝืด แต่ความจริงแล้วกลับกัน เพราะ ภาวะราคาน้ำมันขาขึ้นยาวนานประมาณ 10 ปี ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มพบขีดจำกัดของการเติบโตจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เศรษฐกิจชะลอตัวลงทั่วไป จนกระทั่งปริมาณการใช้น้ำมันลดลง และส่งผลให้น้ำมันล้นตลาด ดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง
ตัวอย่างเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของจีน บราซิล รัสเซีย ยูโรโซน ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงฮวบฮาบ สะท้อนข้อเท็จจริงว่า เศรษฐกิจชะลอตัว เป็นต้นเหตุของราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่ใช่ราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่
ถามว่า ราคาน้ำมันจะย่ำแย่ไปอีกนานแค่ไหน คำตอบง่ายที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์คือ เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มผงกหัวขึ้นมีการผลิตสินค้าแบบขยายวงพร้อมกัน แบบเดียวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2546 เป็นต้นมา ที่ทำให้ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มขาดแคลน หรือมีอุปทานน้อยกว่าอุปสงค์ของตลาด ซึ่งคาดเดาได้ยากว่าภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อใด
ถึงแม้ว่าช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันเป็นขาลง จะมีความผันผวนของราคาในบางครั้ง ดังเช่นกรณีของความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ซึ่งเป็นชาติโอเปกรายใหญ่ อาจจะทำให้ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นระยะสั้นๆ แต่ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่โต ตราบใดที่ไม่บานปลายเป็นสงคราม แต่อาจจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมันได้ เพราะอาจจะทำลายความร่วมมือของชาติโอเปกผลักดันราคาน้ำมันขึ้นด้วยการลดกำลังการผลิต
ปัญหาใหญ่สุดของผู้บริหารธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีทั่วโลกที่คล้ายคลึงกันคือ ปัญหาสภาพคล่อง และการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินจากสถาบันจัดอันดับ เพราะกำไรถดถอยลงอย่างชัดเจน (ไม่ต้องพูดถึงราคาหุ้นที่หาก้นเหวค่อนข้างยาก)
แม้ในภาพรวมของตลาด จะมีการประเมินว่า หนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นของธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีเฉลี่ยทั่วโลกในขณะนี้อยู่ที่ 0.2 เท่า เท่านั้น ยังมีโอกาสที่จะก่อหนี้มาแก้ปัญหาได้อีกมากมาย แต่ยามนี้ คงจะไม่มีสถาบันการเงินหรือกองทุนที่ไหนกล้าให้เงินกู้ทั้งในรูปเงินกู้โดยตรงหรือผ่านตราสารหนี้ เพราะเห็นได้ชัดว่า มีความสุ่มเสี่ยงอยู่มากพอสมควร
แม้ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จะยังไม่มีข่าวร้ายว่าด้วยการเบี้ยวหนี้เงินกู้ของธุรกิจน้ำมัน หรือ Energy defaults เพราะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนถึงขั้นต้องมาปรับโครงสร้างหนี้การเงินใหม่ แต่ความเป็นไปได้ จะมีสัญญาณที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
รายงานจาก Goldman Sachs Global Investment Research พบว่า ตราสารหนี้ประเภท High Yield (ตราสารหนี้ความเสี่ยงปานกลาง) ของธุรกิจสำรวจน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทั่วโลกที่ใกล้จะครบกำหนด อาจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ใน 12 เดือนข้างหน้า ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ในขณะที่ตราสารหนี้ High Yield ของธุรกิจสำรวจและขุดเจาะซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่านั้น เพิ่มขึ้นมาเป็น 19% ทั้งๆ ที่สิ้นปี ค.ศ. 2014 มีอยู่แค่ 1% เท่านั้น
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า การที่ช่วงเวลาของการปรับตัวเพื่อรับมือกับขาลงของธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีนี้ ธุรกิจที่น่าจะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือธุรกิจก่อสร้างหรือ รับเหมา ที่พ่วงต่อกับธุรกิจน้ำมัน ซึ่งจะได้รับผลเสียหายโดยตรงถึงขั้นที่ล้มละลายได้ง่ายๆ เพราะเงินลงทุนที่หดหายใหม่ของธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี มีมูลค่ามหาศาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ผลข้างเคียงของราคาน้ำมันขาลง ที่ไม่มีคนพูดถึงมากนัก แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เลี่ยงไม่พ้นคือ โอกาสของการลงทุนเพื่อสร้างพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดทั้งหลาย ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่า และมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีโอกาสสูงมากที่จะชะลอตัวลง ไม่ใช่เพราะรัฐไม่ส่งเสริม แต่เพราะรัฐมีปัญหาในเรื่องงบประมาณชดเชยให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่ลดลงเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลง
หุ้นพลังงานทดแทนที่เสน่ห์เริ่มโรยตัวลงจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและข้อเท็จจริงของตลาดหุ้นโดยปริยาย
ทั้งหมดนี้ นั่นไม่ได้หมายความว่าหุ้นพลังงานเป็นหุ้นที่ไร้อนาคต เพียงแต่อนาคตในระยะอันใกล้หม่นมัวกว่าปกติเท่านั้นเอง เหมาะสำหรับเก็บในระยะยาว เหมือนครั้งหนึ่งที่หุ้น PTT เคยราคานิ่งอยู่ที่ 28 บาท ยาวนานหลายเดือนหลังจากเข้าตลาดแล้วหลุดจองในช่วงปี 2545