เกมแห่งความอยู่รอด ตอนที่ 1 

ในภาวะที่ตลาดหุ้นยังเต็มไปด้วยปัจจัยแห่งความไม่แน่นอน เราได้เห็นถึงตัวแปรแห่งการเปลี่ยนแปลงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่แตกต่างกันออกไป


ในภาวะที่ตลาดหุ้นยังเต็มไปด้วยปัจจัยแห่งความไม่แน่นอน เราได้เห็นถึงตัวแปรแห่งการเปลี่ยนแปลงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะขอเรียกรวม ๆ ว่าบริษัทจดทะเบียนทุกรายการกำลังอยู่ในช่วงเกมแห่งความอยู่รอด

หากใช้มุมมองของปรมาจารย์แห่งการอยู่รอดคือชาร์ลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีแห่งการอยู่รอด ซึ่งมีข้อสรุปสั้น ๆ ว่าสิ่งมีชีวิตที่จะรอดเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ ในโลกนี้มิใช่สิ่งที่แข็งแรงหรือฉลาดสุดในโลก แต่เป็นสิ่งที่ปรับตัวเข้ากับภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ทฤษฎีซึ่งชาร์ลส์ ดาร์วิน เขียนไว้ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในหนังสือชื่อ ORIGIN OF THE SPECIES ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับมุมมองของโลก โดยเฉพาะศาสนาที่ปัจจุบันหนังสือดังกล่าวยังเป็นหนังสือต้องห้ามของสำนักวาติกันที่ถือว่าบั่นทอนความเชื่อทางศาสนาที่รุนแรงที่สุด โดยเฉพาะที่บอกว่ามนุษย์ในปัจจุบันมีวิวัฒนาการร่วมกับลิง ซึ่งทำลายความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกใน 7 วัน และมนุษย์คู่แรกของโลกคืออาดัมกับอีฟ

ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วินนั้นถูกนำไปประยุกต์ใช้กับวิวัฒนาการของสรรพสิ่งในโลกรวมทั้งในตลาดหุ้นด้วย  บริษัทจดทะเบียน (บมจ.) ทั้งหลายล้วนเกิดมาจากการที่คณะกรรมการบริษัทได้ดัดแปลงบริษัทจดทะเบียนเอกชนเข้ามาเป็นบริษัทภายใต้กฎหมายบริษัทมหาชนซึ่งมีกติกาสำคัญคือสามารถระดมทุนด้วยการขายหุ้นผ่านตลาดสาธารณะโดยยอมแลกกับกติกาการตรวจสอบที่เข้มงวดกว่าปกติ ในฐานะบริษัทมหาชน

ขบวนการที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรจากบริษัทเอกชนเป็นมหาชนภายใต้กฎหมายไทยนั้นคือการตั้งก.ล.ต.ขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมกฎเพื่อให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนขายหุ้นแก่สาธารณะโดยมีบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีและมีที่ปรึกษาการเงินทำหน้าที่แต่งตัวบริษัทให้เข้าหลักเกณฑ์ที่ก.ล.ต.กำหนด แล้วจึงสามารขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ โดยมีหลักเกณฑ์ว่าต้องซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบรกเกอร์เท่านั้น

วิวัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ไทยยาวนานมากว่า 50 ปี โดยผ่านยุคของความร้อนแรงของราคาหุ้นและการล่มสลายของบริษัทในตลาดหุ้นมาเกือบทุกรูปแบบ

ในยามตลาดขาขึ้นเรียกว่ายุคทองของตลาดหุ้นเราได้เห็นราคาหุ้นของบริษัท ราชาเงินทุนและหุ้นบริษัท รามาทาวเวอร์มีราคาหุ้นถูกปั่นเกินจริงก่อนจะล่มสลายไป  และเราก็ได้เห็นตลาดหุ้นยุคฟองสบู่ปี 2535-2537 ก่อนที่ตลาดจะวายเพราะฟองสบู่แตกในช่วงปี 2540-2545 และเราได้เห็นตลาดกลับมาเฟื่องฟูใหม่ในปี 2546-2548 ในยุคทักษิณครองเมือง จากนั้นตลาดก็ปรับฐานลงหลังจากคณะรัฐประหาร (คมช.) ขึ้นสู่อำนาจ และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ดึงดูดให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาในตลาดหุ้นจนยอดซื้อขายประจำวันเกินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ก็ตาม

ภายใต้ภาวะกดดันจากโควิด-19 ที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่เคยสูงระดับ 1,700 จุด ต้องถอยร่นลงมาที่ใต้ระดับ 1,400 จุดในปัจจุบัน ทำให้เราได้เห็นถึงสภาพการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของบริษัทมหาชนอย่างเลี่ยงไม่พ้น (ยังมีต่อตอนที่2)

Back to top button