พาราสาวะถี

ไม่ต้องถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองอดีตผู้นำของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เมื่อ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือ สมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา บินตรงเข้าเยี่ยม ทักษิณ ชินวัตร ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า


ไม่ต้องถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองอดีตผู้นำของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เมื่อ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือ สมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา บินตรงเข้าเยี่ยม ทักษิณ ชินวัตร ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า โดยมีการโพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขณะอยู่บนเครื่องบินพร้อมข้อความระบุว่า กําลังเดินทางไปกรุงเทพเพื่อเยี่ยม MR.Taksin sinavatra อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการตอกย้ำความสนิทแนบแน่นของทั้งสองคน

ส่วนจะมีผลต่อแนวทางด้านต่างประเทศของ เศรษฐา ทวีสิน กับกัมพูชา ภายใต้การนำของ ฮุน มาเน็ต ลูกชายของฮุน เซน หรือไม่ แทบไม่ต้องคาดเดา เมื่อความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวของอดีตผู้นำทั้งสองเป็นไปในทิศทางที่ดีเช่นนี้ ย่อมส่งผลด้านบวกมายังรัฐบาลปัจจุบันของทั้งสองฝั่งด้วยเช่นกัน ความจริงต้องยอมรับว่าในแง่ความสัมพันธ์ทางการทูต หรือนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยนั้น มีปัญหามาตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี อันเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร

ไม่ใช่แค่การตั้งข้อรังเกียจกับความเป็นรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น หากแต่ฝ่ายกุมอำนาจที่มาจากปลายกระบอกปืน สืบเนื่องถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจก็มีนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับนานาประเทศเท่าไหร่ ประกอบกับท่าทีของผู้ที่ทำหน้าที่ด้านการต่างประเทศก่อนหน้านั้น บรรดานักการทูตทั้งหลายถึงกับส่ายหน้า จะเห็นได้ว่าทันทีที่มีรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง เศรษฐาก็บินไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น นั่นย่อมสะท้อนถึงท่าทีของประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อไทยก่อนหน้าเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาเยี่ยมทักษิณของฮุน เซน แม้จะในนามส่วนตัว แต่ก็มีการมองกันว่าท่วงทำนองเช่นนี้อาจเป็นเหมือนการเปิดฉากบทบาทด้านต่างประเทศให้กับทักษิณ ไม่แน่ว่าหลังจากนี้อาจจะมีบรรดาผู้นำหรืออดีตผู้นำของประเทศในอาเซียน เดินทางมาเข้าพบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าอดีตนายกฯ ได้สานสัมพันธ์ไว้ในสมัยที่ทำหน้าที่ผู้นำประเทศได้เป็นอย่างดี โดยระหว่างที่เป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีอยู่นั้น ก็จะเห็นว่าได้เดินทางมาวนเวียนในหลายประเทศแถบอาเซียนบ่อยครั้ง

ทั้งนี้ บทบาทดังกล่าวคงไม่ใช่การยืนยันข้อกล่าวหาหรือวาทกรรมจากฝ่ายตรงข้ามที่ว่าประเทศมีนายกฯ สองคน แต่จะเป็นส่วนเสริมทำให้เศรษฐาทำงานด้านการคบค้าสมาคมกับประเทศต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อย่างที่เห็นนายกฯ คนปัจจุบันก้มหน้าก้มตาทำงานตามเจตนารมณ์ที่ได้ประกาศไว้ โดยมีเป้าหมายคือยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น และเริ่มที่จะเห็นการรุกคืบในแง่ของการแสดงอำนาจเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

การแถลงตัวเลขจีดีพีของประเทศไตรมาส 4 ปีที่แล้ว รวมถึงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ของ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ตามมาด้วยข้อเรียกร้องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อประโยชน์ในการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจในฐานะผู้นำประเทศของเศรษฐาได้เป็นอย่างดี

แม้ว่านายกฯ จะปฏิเสธ เช่นเดียวกับเลขาธิการสภาพัฒน์ก็บอกว่าไม่ได้มีแรงกดดันจากผู้นำรัฐบาล ต่อถ้อยแถลงที่เรียกร้องให้แบงก์ชาติพิจารณาลดดอกเบี้ย เนื่องจากเห็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางการเงินเข้ามาช่วย ใครจะเชื่อ เพราะหนึ่งวันก่อนแถลงเศรษฐาเพิ่งให้สัมภาษณ์ย้ำถึงความจำเป็นในการลดดอกเบี้ย ถึงขนาดบอกว่าแค่ดอกเบี้ยลดลงสลึงเดียวก็จะช่วยบรรเทาภาระของประชาชนทุกคนได้

ไม่เพียงเท่านั้น เศรษฐายังแสดงท่าทีเอือมระอาด้วยว่าส่งสัญญาณเรื่องลดดอกเบี้ยหลายรอบ แต่ไม่มีเสียงตอบรับจากฝ่ายที่มีอำนาจหน้าที่ เข้าใจความเป็นอิสระแต่ต้องเห็นใจในความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ดังนั้น การขยับของสภาพัฒน์จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการขานรับไปกับทิศทางของนายกฯ และรัฐบาล คงไม่ใช่การกดดันเพื่อให้ยอมรับว่าเศรษฐกิจวิกฤต แล้วจะสามารถเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตได้ แต่ต้องการให้รับสภาพความเป็นจริงว่าเวลานี้ชาวบ้านร้านรวงกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง เศรษฐา เลขาฯ สภาพัฒน์ รวมไปถึง เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ย่อมเข้าใจดีว่าการลดดอกเบี้ยเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งเห็นกันอยู่แล้วสำหรับตัวเลขที่ออกมา ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย คือหนี้ที่สูงโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เกือบทั้งหมดแล้ว อาทิ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุนใหม่ในประเทศ แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจยังอยู่ ทำให้น่าจะถึงช่วงเวลาที่มาตรการการเงินต้องเข้ามาช่วยเศรษฐกิจแล้ว

มาตรการด้านการเงินที่ทางสภาพัฒน์มองเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้นั้นคือ การลดภาระหนี้ครัวเรือนและเอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย ที่ต้องเน้นลงไปที่ภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง แต่ประเมินจากท่าทีของฝ่ายได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูง และอัตตาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลดดอกเบี้ย จึงเชื่อว่าเรื่องนี้เร็วสุดจะเกิดขึ้น หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ครั้งต่อไปเดือนเมษายน ไม่มีการเรียกประชุมนัดพิเศษเร่งด่วนอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน 10 เมษายน อัยการสูงสุดได้นัดสั่งคดีของทักษิณเกี่ยวกับการทำผิดมาตรา 112 ซึ่งก็จะได้รู้กันหมู่หรือจ่า และน่าจะสอดประสานกับการเดินหน้าของรัฐบาลเศรษฐาด้วย เพราะในวันดังกล่าวหากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีจะถือว่าสิ้นสุดทันที ไม่ต้องส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาเหมือนคดีอื่น เพราะเป็นคดีนอกราชอาณาจักรที่อัยการสูงสุดมีอำนาจสอบสวนและพิจารณาเด็ดขาด อนาคตบ้านเมืองวันนี้ขึ้นอยู่กับดีลต่าง ๆ ที่ได้ตกลงกันไว้ หากทุกอย่างราบรื่น เรียบร้อย ก็เดินหน้าต่อไปได้ แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยึกยักก็ไม่อยากนึกภาพ ภาวนาแค่ว่าอย่ากลับไปเลวร้ายเหมือนก่อนหน้านี้

Back to top button