ADVANC รับประโยชน์ดีล TTTBB
ADVANC โครงสร้างรายได้ตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นปี 2566 1.บริการโทรศัพท์มือถือ 71.01% 2.ขายโทรศัพท์มือถือ, ซิมและอุปกรณ์ 19.38%
คุณค่าบริษัท
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC โครงสร้างรายได้ตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นปี 2566 1.บริการโทรศัพท์มือถือ 71.01% 2.ขายโทรศัพท์มือถือ, ซิมและอุปกรณ์ 19.38% 3.บริการสื่อสารข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 9.61%
ADVANC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2566 มีกำไรสุทธิ 7,002.54 ล้านบาท ลดลง 4.90% จากไตรมาส 4/2565 และลดลง 14.04% จากไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 8,146.42 ล้านบาท กำไรไตรมาส 4 ต่ำกว่าที่ตลาดคาด โดยกำไรปกติที่ไม่รวมรายการพิเศษ 330 ล้านบาท (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากตราสารอนุพันธ์) อยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท (ลดลง 13% จากไตรมาส 3/2566 และลดลง 3% จากไตรมาส 4/2565) แม้จะมีรายได้จากการขายและบริการที่เพิ่มขึ้นเป็น 5.1 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาส 3/2566 และเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาส 4/2565) จากแรงหนุนของฤดูกาล, การรับรู้รายได้จากบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) เข้ามาตั้งแต่ช่วงกลางพ.ย. 2566
อย่างไรก็ตามกำไรกลับลดลงทั้งเมื่อเทียบไตรมาส 3/2566 และเทียบไตรมาส 4/2565 โดยมีปัจจัยหลักที่กดดัน คือ 1.ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มเป็น 7.4 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 49% จากไตรมาส 3/2566 และเพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาส 4/2565) จากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่เพิ่มขึ้น, ค่าใช้จ่ายของการควบรวมกิจการกับ TTTBB และการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ 2.ดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นเป็น 2.2 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 61% จากไตรมาส 3/2566 และเพิ่มขึ้น 70% จากไตรมาส 4/2565) ตามยอดเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ยืมเพื่อนำมาซื้อ TTTBB และ JASIF ราว 3.2 หมื่นล้านบาท
จำนวนลูกค้าใหม่ของ ADVANC พลิกกลับมาเป็นบวกที่ 0.17 ล้านราย ซึ่งส่งผลให้จำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวมในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 44.6 ล้านราย ลดลง 3% จากไตรมาส 4/2565 แต่เพิ่มขึ้น 0.4% จากไตรมาส 3/2566 ด้าน ARPU โทรศัพท์มือถือไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 223 บาท เพิ่มขึ้น 4.7% จากไตรมาส 4/2565 และ 3.2% จากไตรมาส 3/2566 ขณะเดียวกันจำนวนลูกค้า FBB ใหม่ในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 2.36 ล้านราย แบ่งเป็น จาก ADVANC ที่ 0.06 ล้านราย และจากการรวมกิจการกับ TTTBB ที่ 2.3 ล้านราย ขณะที่ ARPU ของ FBB ในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 490 บาท เพิ่มขึ้น 20.4% จากไตรมาส 4/2565 และ 14.5% จากไตรมาส 3/2566
ฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส เชื่อว่ากำไรในช่วงไตรมาส 1/2567 น่าจะค่อนข้างทรงตัวทั้งเมื่อเทียบไตรมาส 4/2566 และเทียบไตรมาส 1/2566 โดยรายได้รับผลบวกจากโครงสร้างราคาค่าบริการใหม่ ที่บริษัทได้ทยอยปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566, มาตรการของภาครัฐ EASY E-RECEIPT เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย รวมถึงการรับรู้รายได้จากบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ราว 2 พันล้านบาทต่อไตรมาส เข้ามาเต็มไตรมาส และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ราว 250 ล้านบาทต่อไตรมาส หลังจากซื้อหน่วยลงทุน 19% มาจาก JAS
ข้อมูลจาก Refinitiv Consensus สำหรับ ADVANC ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 208,554.76 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 31,189.56 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 255.06 บาท จาก 15 โบรกเกอร์
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ปรับลดประมาณการกำไรปกติปี 2567 ลง 7% เป็น 3.07 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7.7% จากปี 2566) ผลประกอบการอยู่ในรอบเติบโต แม้ผลกระทบจากดีล TTTBB สูงกว่าที่บล.หยวนต้า และตลาดคาด แต่เป็นผลกระทบชั่วคราว ระยะยาวเชื่อว่า ADVANC จะได้ประโยชน์จากดีลดังกล่าว อย่างไรก็ดีเงินปันผลที่แข็งแกร่งและภาวะอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หากราคาหุ้นปรับลดลง จึงมองว่าเป็นโอกาสสะสมรอบใหม่
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น ADVANC ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 20 ก.พ. 2567 ที่ 207 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 21.17 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ 30.78 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น ADVANC อยู่ที่ 6.80 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ 2.52 เท่า