จับเข่าคุย ‘ยุพาพิน’ เปิดแผน 5 ปี กัลฟ์
ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี GULF ขยายอาณาจักรแตกกิ่งก้านสาขา กระทั่งปัจจุบัน GULF ดำเนินธุรกิจใน 3 ด้าน
เส้นทางนักลงทุน
หากจะพูดถึงบริษัทที่ทำธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น หรือ Holding Company ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในตอนนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนึกถึงบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2554
ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี GULF ขยายอาณาจักรแตกกิ่งก้านสาขา กระทั่งปัจจุบัน GULF ดำเนินธุรกิจใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ธุรกิจพลังงาน 2.ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 3.ธุรกิจดิจิทัล เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 5.14 แสนล้านบาท
“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ยุพาพิน วังวิวัฒน์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ของ GULF ถึงทิศทางก้าวย่างต่อไปในระยะ 5 ปีข้างหน้า ได้รับคำตอบว่า GULF ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นธุรกิจหลัก (Core Business) สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้รวม ขณะที่อีก 20% จะเป็นธุรกิจดิจิทัล เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ ๆ
ทางด้าน Core Business นั้น ณ ปัจจุบัน GULF มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนารวมทั้งสิ้น 8,211 เมกะวัตต์ และพร้อมมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2578 จากโครงการ Solar Rooftop, Solar Farms, Solar BESS พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานขยะอุตสาหกรรม ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านรูปแบบการลงทุนใหม่ (Greenfield) การเจรจาการร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ และการเข้าซื้อกิจการ (M&A)
ทั้งนี้ ระยะสั้นในปี 2567 GULF ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโต 25-30% จากปี 2566 จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GPD หน่วยที่ 3 และ 4 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคมและตุลาคม 2567 ตามลำดับ
รวมทั้งการเปิด COD ของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกองหน่วยที่ 1 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ มีกำหนดเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2567 นอกจากนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของกลุ่ม GULF1 จะทยอยเปิดดำเนินการเพิ่มอีกจำนวน 120 เมกะวัตต์ ในปีนี้
ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar Farms With Battery Energy Storage Systems : Solar BESS) ภายในประเทศ มีแผนที่จะทยอยเปิด COD เพิ่มอีก 5 โครงการ ในปลายปี 2567 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 532 เมกะวัตต์
การเติบโตระดับ 2 หลักนี้ต่อเนื่องจากในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่ง GULF มีรายได้รวม (Total Revenue) อยู่ที่ 116,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จาก 95,076 ล้านบาท ในปี 2565 และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) อยู่ที่ 15,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จาก 12,098 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า หลัก ๆ มาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD), โครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ในประเทศโอมาน, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Mekong ในประเทศเวียดนาม, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และการรับรู้รายได้เต็มปีของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC)
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจพลังงานยังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไร Core Profit เพิ่มขึ้น 116% จากปีก่อนหน้า เพราะอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งราคาค่าก๊าซฯ เฉลี่ยปรับตัวลดลงจาก 494.8 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2565 เป็น 385.4 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2566
ขณะที่ ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2565 เป็น 0.89 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2566 อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit เพิ่มขึ้น 174% ตามการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีของโครงการดังกล่าว
ตลอดจนรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก PTT NGD และโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว (Thai Tank Terminal) รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 6,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เพราะผลประกอบการที่ดีขึ้นของ AIS ดังนั้นภาพรวมกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในปี 2566 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) จึงอยู่ที่ 14,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จาก 11,418 ล้านบาท ในปี 2565
ในส่วนของธุรกิจดิจิทัล GULF เริ่มก้าวแรกด้วยธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ภายใต้แพลตฟอร์ม Binance TH by Gulf Binance ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้ใช้งานทั่วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งตลาดที่ประมาณ 30% ในปี 2567 รวมทั้งยังทำธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
ในขณะที่ธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนที่จะเปิดให้บริการเฟสแรกในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 20 เมกะวัตต์ ศูนย์ข้อมูลนี้จะมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน GULF ยังจะขยายเข้าสู่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ (Virtual Bank) โดยจับมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทั้งบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และพันธมิตรรายอื่น ๆ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีทั้งช่องทาง ฐานลูกค้าและข้อมูล มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยดำเนินการและสร้างบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการให้บริการ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าที่อยู่นอกระบบธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ Virtual Bank เติบโตได้ นอกจากนี้ GULF ยังมองหาโอกาสที่จะขยายธุรกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นเทรนด์ของโลกที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต
ด้วยแผนงานและเป้าหมายที่วางไว้ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่มองว่า GULF กำลังปรับเป้าหมายการลงทุนกลับมาเน้นในประเทศไทย จากก่อนหน้านี้เน้นไปที่ต่างประเทศ นอกจากนี้อาจพิจารณาขายสินทรัพย์ (asset monetization) โดยเฉพาะสินทรัพย์กลุ่มที่ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาด
สิ่งที่สำคัญก็คือ ไม่มีใครสงสัยกับแนวโน้มการเติบโตของ GULF ในอีกอย่างน้อย 5 ปีข้างหน้า โดยเชื่อมั่นว่า จากศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ ความสัมพันธ์กับพันธมิตร และฐานทุนที่แข็งแกร่ง GULF จะพุ่งชนเป้าหมาย เดินหน้าเข้าสู่เส้นชัยแน่นอน