ICHI หุ้นที่ไม่มีทางตัน
ICHI ประกาศจ่ายเงินปันผลในรูปเงินสดอัตรา 50 สตางค์ต่อหุ้น ถือว่ามากสุดในรอบ 6 ปี จากกำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่กำไรสุทธิเพียง 650 ล้านบาท
บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ประกาศจ่ายเงินปันผลในรูปเงินสดอัตรา 50 สตางค์ต่อหุ้น ถือว่ามากสุดในรอบ 6 ปี จากกำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่กำไรสุทธิเพียง 650 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกำไรสุทธิมากสุดในรอบ 5 ปี กำไรสุทธิและการจ่ายปันผลสูงสุดในรอบ 6 ปี กำไรที่เกิดขึ้นนี้เป็นกำไรจากการดำเนินงานตามปกติ ไม่ได้เกิดจากกำไรพิเศษอันจะเห็นได้จากอัตรากำไรสุทธิที่สูงถึง 16% อัตรากำไรสุทธิที่สูงมากเป็นพิเศษนี้เกิดจากการดำเนินกลยุทธ์แบบบ้าน ๆ ของนายตัน ภาสกรนที ที่เลือกใช้กลยุทธ์การตลาดและการขายสินค้าที่เรียกว่าเอาเงินของผู้บริโภคมาแจกผู้บริโภคเอง
กลยุทธ์ดังกล่าวกระทำผ่าน 2 ทางด้วยกันคือ การทำโปรโมชันแจกรางวัลสำหรับการซื้อสินค้า และเสริมด้วยกลยุทธ์การที่นายตันเดินทางไปพบผู้บริโภคด้วยตัวเอง และทำการแจกเงินผู้บริโภคในที่ต่าง ๆ เป็นเงินสดคนละ 5,000 บาทเพื่อถ่ายรูปออกสื่อ การแจกเงินสดโดยตรงดังกล่าวนายตันจะแต่งชุดที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือชุดกัปตันกางเกงยีนส์สีเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ของ Brand ambassador ซึ่งผู้บริโภคคุ้นเคย
กลยุทธ์ทั้งสองดังกล่าว ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่ทางการตลาดถือว่าสิ้นคิด แต่ในส่วนของนายตันนั้นถือว่าเป็นการฝ่าทางตันที่ได้ผลมาโดยตลอดซึ่งทำให้เขากล้าประกาศว่าชีวิตเขาไม่มีทางตัน และการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่คนอื่นห้ามเลียนแบบ เพราะอาจได้ผลตรงกันข้าม
หลักการตลาดแบบพื้น ๆ ของนายตันนั้นมีส่วนทำให้เขามั่นใจจากการที่ใช้ประสบการณ์ชีวิตจากเจ้าของร้านข้าวต้มเล็ก ๆ ในชลบุรีออกมาลุยธุรกิจในกรุงเทพฯ หลังเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกได้ทำธุรกิจร้านถ่ายรูปแบบพรีเวดดิ้งและทำร้านอาหารญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นการทวนกระแสการลงทุนจนสร้างตัวได้ใหญ่โต ก่อนที่จะตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มชาเขียวยี่ห้อโออิชิและแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นในปี 2547
ความสำเร็จอย่างล้นหลามเป็นการส่วนตัว ทำให้นายตันขายหุ้นโออิชิทั้งหมดให้เสี่ยเจริญโดยมีเงื่อนไขขอรับบริหารต่ออีก 3 ปี หลังจากครบ 3 ปี นายตันก็ติดปีกหอบเงินสดจากการขายหุ้นโออิชิมาสร้าง อาณาจักรของตัวเองในนามอิชิตัน และผลิตเครื่องดื่มชาเขียวมาแข่งกับโออิชิ พร้อมกับผลักดันให้ ICHI เข้าสู่ตลาดหุ้นในปี 2557 หลังเกิดน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นายตันได้ประกาศให้อิชิตันเพิ่มการลงทุนขยายโรงงานใหม่แทนที่จะหยุดการลงทุนเหมือนนักธุรกิจรายอื่นโดยให้เหตุผลว่า การเร่งลงทุนใหม่ในยามที่คู่แข่งหยุดชะงักเป็นการสร้างโอกาสใหม่
ในขณะเดียวกัน ICHI ได้ประกาศรุกทางการตลาดด้วยการแตกไลน์ผลิตสินค้าเครื่องดื่มอื่น ๆ จากชาเขียวเป็นน้ำจับเลี้ยงและซื้อแบรนด์ระดับโลกที่ตายไปแล้ว (ยกเว้นในญี่ปุ่น) อย่างไบเลย์มาไว้ในกำมือและผลิตน้ำอัดลมประเภทน้ำส้มและน้ำองุ่น รวมทั้งลงทุนเปิดแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นอิชิตัน
การลงทุนดังกล่าวยังไม่ผลิดอกออกผลในทันที ทำให้ราคาหุ้นตกลงมาเกินกว่าครึ่ง จากราคาสูงสุด 23 บาท เหลือ 11 บาท แต่ในข้อมูลล่าสุดของงวดสิ้นปี 2566 ยืนยันให้เห็นว่าไม่มีคำพูดใดถูกต้องและอิชิตันจะไม่มีวันถึงทางตันดังที่เขาประกาศไว้แต่แรก
ราคาหุ้นบนกระดานของ ICHI ยามนี้อยู่ที่ระดับ 17 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่นักวิเคราะห์มองว่าต่ำเกินไปและแนะนำให้ซื้อ จึงมีเหตุที่น่ารับฟัง