กลไกรัฐไม่สนองขี่พายุ ทะลุฟ้า
ผมฟังดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดถึงแนวทางออกจากหลุมดำเศรษฐกิจไทยหลายครั้งหลายครา ก็ยังไม่ค่อยจะ “เก็ต” สักเท่าไหร่
ชาญชัย สงวนวงศ์
ผมฟังดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดถึงแนวทางออกจากหลุมดำเศรษฐกิจไทยหลายครั้งหลายครา ก็ยังไม่ค่อยจะ “เก็ต” สักเท่าไหร่
เรื่อง “คลัสเตอร์เศรษฐกิจ” แล้วยังไง พอจัดกลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรมเข้าไป แล้วมันจะทำให้เศรษฐกิจพวยพุ่งขึ้นมาได้เลยหรือและอย่างไร
เรื่อง “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” ผมก็มองไม่ออกว่า จะช่วยทำให้เศรษฐกิจกระชุ่มกระชวยขึ้นได้อย่างไร
ปัญหาน่าจะอยู่ที่ว่า แต่ละพื้นที่ชายแดน เหมาะสมจะลงทุนในกิจการอะไรมากกว่ามั้ย
และแม้กำหนดประเภทธุรกิจได้แล้ว ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะต้องคิดคำนึงอีกว่า จะหาทางป้องกันอย่างไรไม่ให้เป็น “เมืองร้างชายแดน”
เรื่องการตั้ง “กองทุนส่งเสริมการแข่งขัน” ที่ต้องใช้เงินทุน 1 หมื่นล้านกว่าบาทนี่ก็อีก ผมไม่เห็นรูปธรรมว่าจะเข้าไปส่งเสริมกิจการของเอกชนอย่างไร และจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานปกติที่ส่งเสริมกันอยู่แล้ว
กระทั่งเรื่องจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยการจัดตั้ง “ซุปเปอร์ โฮลดิ้ง” ขึ้นมา มันจะไปแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาอย่างไรได้
มันจะช่วยปลุกรัฐวิสาหกิจให้พวยพุ่งขึ้นมา หรือจะสร้างปมปัญหาใหม่ขึ้นมากันแน่
ตอนนี้ มีคำฮิตติดลมบนเรื่อง “สตาร์ทอัพ” ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตและโดยคนรุ่นใหม่ที่ถึงพร้อมด้วยนวัตกรรม ผมก็ว่า มันก็ยังเป็นนามธรรมอยู่นะ
แนวทางของรองนายกฯสมคิด มันยังมีกลิ่นอายของการเลคเชอร์ในห้องเรียนชอบกล ยากจะเข้าถึงแก่นแท้ได้โดยง่ายนัก
รองฯสมคิด คาดคะเนเศรษฐกิจปีหน้าจะโตได้ 3.5% จึงยังมีความเคลือบแคลงอยู่พอสมควร
ยิ่งมาดูสภาพการบริหารราชการและรัฐวิสาหกิจที่เป็นจริงอยู่ในเวลานี้ ผมว่าต่อให้มีแนวทางที่ถูกต้องและเป็นรูปธรรมแจ่มชัด ก็ยังน่าเป็นห่วงว่า “กลไกรัฐ” ทั้งหลายจะทำงานตอบสนองได้มากน้อยแค่ไหน
สภาพการณ์ตอนนี้ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ มีลักษณะยิ่งกว่า “เกียร์ว่าง” เสียอีกซะเป็นส่วนใหญ่
กลัวจะพลาด กลัวจะติดตะราง และกลัวอะไรอื่นๆ อีกสารพัด
ยกตัวอย่างการประมูลรถเมล์ NGV จำนวน 489 คันของขสมก.นั่นปะไร
ผมว่าน่าจะเป็นรายการประมูลที่โปร่งใสเป็นที่สุดแล้วกระมัง เพราะผู้แพ้ประมูล ไปร้องเรียนทั้งที่ศาลอาญาและศาลปกครอง แต่ก็โดนยกฟ้องเรียบ
กวพ.อ. หรือหน่วยงานดูแลการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง ก็รับรองแล้วว่าการประมูลมีความโปร่งใส แต่ผู้บริหารขสมก.จะให้รับรองถึงขั้นให้ระบุให้ได้ว่า “เห็นควรให้เดินหน้าโครงการต่อไป”
ยุคนี้ ใครจะไปแส่ทำอะไรเกินหน้าที่เล่า กวพ.อ. มีหน้าที่แค่การตรวจสอบดูว่าการประมูลมีความโปร่งใสหรือไม่โปร่งใส ไม่มีหน้าที่จะเอาตัวเองไปผูกพันถึงขั้นระบุให้เดินหน้าทำโครงการต่อไปได้
ส่วนขสมก.นั้นหรือก็ปอดแหกอย่าบอกใคร แม้มีการการันตีเรื่องการฟ้องร้องมาทั้ง 2 ศาล จากศาลอาญาและศาลปกครอง รวมทั้งกวพ.อ.แล้ว แต่ก็ยังขอความชัวร์ในความปลอดภัยของตัวเองแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
ในที่สุด ก็ตัดสินใจด้วยความขลาดกลัว โดยการล้มประมูลดังกล่าว
พวกข้าราชการหรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย เขาพากันพูดว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจเมื่อไหร่ คสช.ก็ดีหรือรัฐบาลก็ดี ยังอยู่รอดปลอดภัยได้ เพราะระบบรัฐธรรมนูญไทย ได้เขียนนิรโทษกรรมรับรองไว้ให้แล้ว
แต่พวกเขาผู้ปฏิบัติงานนี่สิ ไม่ได้อยู่ในข่ายจะได้รับนิรโทษกรรมเช่นพวกผู้ใหญ่ด้วย ฉะนั้นอย่าเอาตัวเข้าเสี่ยงดีกว่า
เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง หลบได้เป็นหลบ เวลา “นาย” สั่งมา ก็หยวนๆ เฉพาะหน้าไปก่อน ค่อยหาทางสร้างสตอรี่อะไรเนียนๆ ที่เป็นสาเหตุอุปสรรคทำให้งานที่ “นายสั่ง” ล่าช้าในภายหลัง
เป้าหมายจีดีพีโต 3.5% ที่นายสมคิดสั่ง มันจะเป็นจริงได้หรือ