MGI จบไม่สวย?
ดูเหมือนผู้คนมากมายในตลาดหุ้นจะเอือมระอากับคนที่รายล้อมหุ้น MGI มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความเห็นต่างในแต่ละเรื่องมักนำไปสู่การปะทะทางความคิด
ดูเหมือนผู้คนมากมายในตลาดหุ้นจะเอือมระอากับคนที่รายล้อมหุ้น MGI มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความเห็นต่างในแต่ละเรื่องมักนำไปสู่การปะทะทางความคิด ชนิดที่พวกคนดีศรีประเสริฐชอบพาทัวร์มาลงอีกฝั่งเป็นประจำนั้น มันทำให้เกิดการจองกฐินสามัคคีเพื่อเอาคืนเพิ่มขึ้นทุกวัน “โมนิก้า” มองเป็นเรื่องที่สังคมชาวหุ้นจะได้เรียนรู้พฤติกรรมของคนพวกนี้ และในไม่ช้าจะได้เห็นจุดจบของเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร?..มันสนุกดีนะตัวเอง
ถามว่า “โมนิก้า” ทำไมถึงคิดเช่นนั้น? และทำไมไม่ซีเรียส? จึงขอตอบแบบผู้ดีว่า “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นตามสนอง” ซึ่งเรื่องราวตรงนี้มีจุดเริ่มต้นจากราคาหุ้นที่ทะยานขึ้นแบบเกินพื้นฐาน จนทำให้ ตลท. ต้องออกมาเตือนนักลงทุนด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ ซึ่งไล่ระดับตั้งแต่ “เบาไปหนัก” ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า T1 T2 และ T3 ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ยังมีการซื้อขายที่ผิดปกติอยู่ดีนะคะ
จนสุดท้ายต้องงัดเครื่องมือที่เรียกว่า “P” หรือ “Pause” ซึ่งเป็นการห้ามซื้อขายหุ้นชั่วคราวมาจัดการ หลังสภาพ การซื้อขายผิดปกติ และถือเป็นครั้งแรกที่ ตลท. นำเครื่องมือตัวนี้มาใช้ในตลาดหุ้น แต่ดูเหมือนก๊กก๊วนที่อุปโลกน์ตัวเองเป็นนักลงทุนสายคุณค่าจะไม่ยี่หระกับคำเตือนดังกล่าว และพยายามหาข้ออ้างสารพัดมาอธิบายว่า หุ้นตัวนี้..ดีอย่างนั้น..ดีอย่างนี้ ซึ่งมีพวกสมุนที่ฝากตัวรับใช้นายเข้ามารับลูกกันเป็นระยะเจ้าค่ะ
น่าเห็นใจที่เสียงร่ำร้องของคนพวกนี้ มันเหมือนเสียงผายลมในสายตาของ ตลท. และไม่ได้เป็นสาระสำคัญของการลุยตรวจสอบ จึงทำให้ ตลท. ประกาศขึ้นเครื่องหมาย P เป็นครั้งที่สอง และมีการขึ้นครั้งที่ 3 ตามหลังมาติด ๆ ซึ่งทำให้ก๊กก๊วนสมาคมที่มีเอี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนดิ้นพล่านกันเป็นแถว พร้อมกับปลูกฝังความเชื่อเดิม ๆ ว่า ถูกทางการกลั่นแกล้งแบบนี้..เพี้ยนไปกันใหญ่แล้วนะจ๊ะ
ที่น่าสนใจก็คือระหว่างทางดันเกิดข้อพิพาทกับผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสื่อต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งโบรกเกอร์ก็มีให้เห็นเป็นระลอก ซึ่งทำให้สังคมได้ฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า บทบาทของผู้บริหาร และบทบาทของนักลงทุน หรือแม้กระทั่งบทบาทของกองเชียร์ มันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผู้คนแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจนคือ “ชอบ” และ “ไม่ชอบ” ในพฤติกรรมที่แสดงออกมาพะย่ะค่ะ
งานนี้เลยเป็นที่มาของการตั้งคำถามที่ว่า สิ่งที่ก๊กก๊วนของ MGI กำลังทำเป็นเรื่องที่ถูกต้องขนาดไหน? เพราะพฤติกรรมของแต่ละคนที่เสนอหน้าออกมาในเที่ยวนี้ มันช่างตรงข้ามกับบทบาทของตัวเองที่สวมหัวโขน “โมนิก้า” เลยรู้สึกงงเหลือเกินกับคำว่า “วีไอ” ต้องลงทุนในหุ้นแบบไหนกันแน่! เพราะสิ่งที่รับรู้มาตลอดต้องเป็นหุ้นพื้นฐานดี มีการเติบโตสม่ำเสมอ PE ต่ำ และ PBV ไม่สูง รวมทั้งผู้บริหารตั้งใจทำงาน (ไม่ใช่หมกมุ่นแต่เรื่องราคาหุ้น) เจ้าค่ะ
ประเด็นข้างทำให้ “โมนิก้า” อยากรู้เหลือเกินว่า หุ้นที่เทรดบน PE 110 เท่า และยังมีค่า PBV 30 เท่า รวมทั้งสภาพคล่องของหุ้นที่เทรดเหือดแห้งลงไปทุกที มันเป็นหุ้นที่ตรงกับคอนเซปต์นักลงทุนสไตล์คุณค่าจริงเหรอ? และด้วยความกร่างคับซอยของกลุ่มคนเหล่านี้ ส่งผลให้เพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงตลาดหุ้นไม่อยากสุงสิงอะไรด้วยทั้งนั้น และรอดูวันจบจะมีดราม่าชุดใหญ่ออกมาไหม?..มันเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า พวกคุณอย่าล้มใช่ไหม..วานบอกที!..อิอิอิ
ล่าสุดดูเหมือนว่า ทางฝั่ง CGSI จะออกมาโต้อีกฝั่งถึงขั้นตอนในการทำ “คอมปานีวิสิท” ไม่ได้ไปในนามของบริษัท แต่เป็นเรื่องของมาร์เก็ตติ้งที่ทำในนามตัวแทนลูกค้าแบบนี้..หน้าแตกชนิดหมอไม่รับเย็บกันเลยทีเดียว และเรื่องนี้ก็โยงไปถึงการแจ้งความเมื่อวันก่อนของ MGI เพื่อเอาผิดอีกฝั่งที่ทำให้เสียชื่อเสียงนั้น “โมนิก้า” พูดได้ทันทีว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมีใครเขาทำกัน! ยกเว้นพวก..นะจะบอกให้
สรุปสุดท้ายไม่ว่าเรื่องนี้จะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบไหน? สังคมก็ได้เรียนรู้พฤติการณ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ในระดับหนึ่ง และเรื่องราวตรงนี้จะถูกเล่าขานไปอีกนานแสนนาน เพราะเป็นเคสที่ทำให้หน่วยงานในตลาดหุ้นปั่นป่วนเหลือเกิน “โมนิก้า” ในฐานะคนที่เฝ้าดูตลาดหุ้นมาหลายยุค จึงขอให้กำลังใจหน่วยงานที่เป็นด่านหน้าอย่าง ตลท. อีกครั้ง เพราะได้ทำหน้าที่ปกป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับแมงเม่าไงล่ะคะ