BRICS หอกข้างแคร่ G7
รายงานจาก Henley & Partners ระบุว่า ขณะนี้ประชากรที่มีฐานะร่ำรวยในกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) อาจมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานจาก Henley & Partners ระบุว่า ขณะนี้ประชากรที่มีฐานะร่ำรวยในกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) อาจมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญรอบหนึ่งทศวรรษนี้ ส่งผลให้ความมั่งคั่งในกลุ่ม BRICS ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยจำนวนประชากรที่มีฐานะร่ำรวยในกลุ่มประเทศบริกส์ ที่ครอบครองความมั่งคั่งรวมกันไว้มากกว่า 45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 85% ภายใน 10 ปีนี้
ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีประชากรราว 1.6 ล้านคน ที่ครอบครองทรัพย์สินที่สามารถนำมาลงทุนได้เป็นมูลค่ากว่าหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐต่อคนอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว
Andrew Amolis นักวิเคราะห์จาก New World Wealth ประเมินว่า การเติบโตของกลุ่ม BRICS กว่า 85% จะกลายเป็นตัวเลขการเติบโตด้านความมั่งคั่งสูงสุดในโลก โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศจี 7 (กลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ แคนาดา, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, อิตาลี, สหรัฐฯ, อังกฤษ และสหภาพยุโรป) ที่ครอบครองความมั่งคั่งกว่า 110 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และประเมินว่ากลุ่มประเทศจี 7 จะมีเศรษฐีเพิ่มมากขึ้น 45% ภายใน 10 ปี
ขณะที่ Dominic Volek หุ้นส่วนผู้จัดการและหัวหน้าแผนกเอเชียใต้จาก Henley & Partners ระบุว่า กลุ่ม BRICS กำลังท้าทายระเบียบโลก (World Order) และจัดตั้งกลุ่มประเทศของตนเพื่อแข่งขันกับกลุ่มประเทศจี 7 และสถาบันต่างประเทศอื่น ๆ
“อินเดีย” คือผู้นำของการขยับขยายความมั่งคั่ง..!!!
โดยประมาณการอัตราการเติบโตด้านความมั่งคั่ง 110% ต่อประชากรหนึ่งคน ภายในปี 2576
ตามด้วย “ซาอุดีอาระเบีย” จะเติบโตด้านความมั่งคั่งราว 105% ต่อประชากรหนึ่งคนช่วงระยะเวลาเดียวกัน ส่วนอัตราการเติบโตด้านความมั่งคั่งของ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” อยู่ที่ 95% ขณะที่ “จีน” และ “เอธิโอเปีย” ประเมินว่าจะเติบโต 85% และ 75% ตามลำดับ
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การขยายตัวด้านความมั่งคั่งภาคเอกชนจีน คือส่วนที่มีอิทธิพลมากสุดท่ามกลางประเทศต่างๆในกลุ่ม BRICS มีอัตราการเติบโตด้านความมั่งคั่งอยู่ที่ 92% โดยมีอินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามมาด้วยอัตรา 85% และ 77% ตามลำดับ
นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) มีการต้อนรับสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 5 ชาติใหม่ อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ จากสมาชิกเดิม จีน, รัสเซีย, บราซิล, อินเดีย, แอฟริกาใต้
นั่นทำให้ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 10 ประเทศ
สำหรับกลุ่ม BRICS เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2006 (พ.ศ. 2549) จากสมาชิก 4 ชาติ ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน เริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC แต่เมื่อแอฟริกาใต้ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วยช่วงปี 2010 (พ.ศ.2553) จึงทำให้เกิดชื่อ BRICS ดังกล่าว
ความน่าสนใจของกลุ่ม BRICS คือการมีสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล เมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรประมาณ 3,500 ล้านคน หรือประมาณ 45% ของประชากรโลก
หากพิจารณามูลค่าทางเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจกลุ่ม BRICS มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญคือประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดโลก ประมาณ 44% อีกด้วย..!!??