ปิดสมุดผู้ถือหุ้น (บ่อย ๆ) ได้ประโยชน์อะไร.!?
เรื่องใจความสำคัญการปิดสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน จากข้อกำหนดมาตรฐานของพ.ร.บ.มหาชน เพื่อต้องการให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้น
เรื่องใจความสำคัญการปิดสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน จากข้อกำหนดมาตรฐานของพ.ร.บ.มหาชน เพื่อต้องการให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้น อาทิ สิทธิในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น, สิทธิในการรับเงินปันผล, สิทธิในการรับการจัดสรรหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม, สิทธิในการจองซื้อวอร์แรนต์ เป็นต้น
เพื่อบริษัทจดทะเบียนจะต้องทราบว่าจะมอบสิทธินั้นให้กับใครบ้าง จำนวนกี่ราย เนื่องจากหุ้นของบริษัทจดทะเบียนมีการซื้อขายเปลี่ยนมือทุกวัน จึงต้องกำหนดรายชื่อของผู้ถือหุ้นในวันใดวันหนึ่งเป็นวันที่จะได้รับสิทธินั้น ๆ
โดยระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแสดงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้า
ภายหลังจากการขึ้นเครื่องหมาย X ต่าง ๆ หลังจากนั้น จะมีการอัปเดต รายชื่อผู้ถือหุ้น
ส่วนกรณีการขอปิดสมุดทะเบียน แบบไม่ต้องรอขึ้นเครื่องหมาย X สามารถขอรวบรวมรายชื่อเจ้าของหุ้นได้เลย
ขั้นตอนมีดังนี้ ทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) จะส่งข่าวแจ้ง Broker และ custodian ล่วงหน้า 2 วันทำการ เพื่อให้ Broker และ custodian ส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นในส่วน scripless ให้ตามวันที่ บริษัทกำหนด
ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้ บริษัทแจ้งล่วงหน้า เนื่องจาก Broker และ custodian จะต้องเตรียมการก่อนส่งข้อมูลให้ TSD แล้ว TSD จึงจะส่งต่อให้บริษัทในวันทำการถัดไป
ยกตัวอย่างหากบริษัทต้องการทราบว่าใครซื้อหุ้นในวันนี้ (T) สามารถที่จะแจ้งทาง TSD ในวัน T เพื่อให้ Broker และ custodian รวบรวมรายชื่อ จะได้รายชื่อผู้ถือหุ้นในวันที่ T+2 ซึ่งเป็นวัน settlement หุ้นที่ซื้อขายวันที่ T พอดี
ปัจจุบันบริษัทที่ขอรวบรวมรายชื่อ ผู้ถือหุ้น จะต้องมีค่าใช้จ่าย รายชื่อละ 1 บาท หรือ ขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการปิดสมุดของดูรายชื่อ 1 ครั้ง
ปัจจุบันการขอรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น จะเกิดในกรณีที่บริษัทมีความสงสัยความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุ
โดยมีความเป็นไปได้ที่ว่า อาจจะถูกแอบเทกโอเวอร์จากบุคคลภายนอก แม้จะมีข้อกำหนดให้ต้องรายงานการได้มาของหุ้นทุก ๆ 5% ก็ตาม อาจไม่มีการแจ้งกับทางสำนักงาน ก.ล.ต.ก็เป็นได้
ทำให้บริษัทต้องปิดสมุดทะเบียน เพื่อดูว่า มีกลุ่มบุคคลใดหรือนอมินีของคู่แข่ง ต้องการเข้ามาถือหุ้นใหญ่แบบไม่แจ้งล่วงหน้า (ฉันปรปักษ์)
ในทางกลับกันการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของราคาหุ้น ก็สามารถที่ปิดสมุดเพื่อดูรายชื่อผู้ถือหุ้น เพื่อที่จะตรวจสอบได้ว่า พันธมิตรทางธุรกิจ ที่ถือหุ้นใหญ่ ได้เทขายหุ้นออกไปหรือไม่
แต่ปัจจุบันมีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ใช้วิธีการปิดสมุดทะเบียน เพื่อเช็กชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่และปิดสมุดเกือบทุกวัน ถือว่าไม่ควรอย่างยิ่ง (แต่ไม่ได้ผิดกฎหมาย)
เนื่องจากการปิดสมุดทะเบียนทุกครั้งมีค่าใช้จ่าย ที่ค่อนข้างสูง หลักพันบาทถึงหมื่นบาทขึ้นไป หากปิดบ่อย ๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
หากมีการปิดสมุดทะเบียนทุกวัน 1 เดือน มี 20 วันทำการ คูณ 50,000 บาทต่อครั้ง จะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงสุดเดือนละ 1 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายดังกล่าว บริษัทจดทะเบียนที่ขอปิดจะเป็นผู้ออก ยิ่งถ้าปิดทุกวัน ในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างเยอะโดยไม่จำเป็น
รวมถึงวัตถุประสงค์ของการปิดสมุดทะเบียนลักษณะนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการของบริษัท หรือ ทำให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์อะไรเลย ถือว่าไม่เหมาะสมและถูกมองเป็นเรื่องประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า
เพราะตลาดหุ้นเป็นตลาดเสรี ที่ใครใคร่อยากซื้อ “ก็ซื้อ” ใครใคร่อยากขาย “ก็ขาย” ตราบใดที่ไม่ทำผิดกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ย่อมทำได้
ทุกวันนี้มีหุ้นขึ้นหุ้นลงทุกวัน การจะไปตรวจเช็กว่า หุ้นขึ้นเพราะอะไร หุ้นลงเพราะอะไร หรือ ใครซื้อใครขาย มันค่อนข้างขัดกับวิสัยของผู้บริหารทั่วไปที่มุ่งเน้นการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) มากกว่ามาเน้นทำให้ค่า P/E สูงขึ้นทุกวัน
รวมถึงการปิดสมุดทะเบียนที่บ่อยเกินไป ทำเพื่ออะไร!? และบริษัทได้ประโยชน์ทางไหน.?
คนในแวดวงสังคมหุ้น ที่เข้าใจเรื่องกฎ กติกาและมารยาทของตลาดหุ้นดี กำลังรอคำตอบ ถึงเจตนาในการปิดสมุดทะเบียนในลักษณะแบบนี้..คืออะไรกันแน่.!?
ธิติ ภัทรยลรดี (แทน)