‘ประชารัฐ’ บนเหลื่อมล้ำทายท้าวิชามาร

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 59 เป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้คือ “ดีขึ้นแน่” แต่รายได้เกษตรกรติดลบ เศรษฐกิจจะดีเป็นบางภาคจากมาตรการกระตุ้นและการลงทุนของรัฐบาล ขณะที่ชาวไร่ชาวนาชาวสวนยางหน้าแห้ง แถมคนงานในบางอุตสาหกรรมก็ถูกเลิกจ้าง ถูกลดโบนัสสวัสดิการ


ใบตองแห้ง

 

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 59 เป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้คือ “ดีขึ้นแน่” แต่รายได้เกษตรกรติดลบ เศรษฐกิจจะดีเป็นบางภาคจากมาตรการกระตุ้นและการลงทุนของรัฐบาล ขณะที่ชาวไร่ชาวนาชาวสวนยางหน้าแห้ง แถมคนงานในบางอุตสาหกรรมก็ถูกเลิกจ้าง ถูกลดโบนัสสวัสดิการ

พูดอีกอย่างคือช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างทางชนชั้นจะกว้างขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีอำนาจให้คุณให้โทษมหาศาลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน ซึ่งทำให้บางกลุ่มได้ประโยชน์ บางกลุ่มสูญเสีย โดยยังไม่พูดถึงการประมูลโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ

แน่ละ รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีใครกล้าคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์จึงดำเนินมาตรการต่างๆ ได้รวบรัดฉับไว แต่ก็เป็นดาบสองคมอยู่ในตัว เพราะจะถูกตั้งแง่เรื่องความเปิดเผยโปร่งใสประชาชนไม่มีส่วนร่วม

ยกตัวอย่างง่ายๆ ยางพาราราคาตกต่ำ ถูกละ ชาวสวนยางโทษรัฐบาลไม่ได้เพราะเป็นกลไกตลาดโลก แต่ชาวสวนยางก็มีสิทธิทวงถาม ทำไมรัฐบาลต้องกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำไมรัฐบาลต้องออกแคมเปญ “ช้อปช่วยชาติ” ซึ่งผู้รับประโยชน์โดยตรงคือคนมีรายได้สูงและธุรกิจค้าปลีก

อ้อ แล้วทำไมจะต้องนิรโทษภาษีให้ SME แล้วคนทำมาค้าขายที่เสียภาษีถูกต้องล่ะ กลายเป็นไอ้โง่ใช่ไหม

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ไม่เข้าใจด้านดีของมาตรการกระตุ้นต่างๆ แต่ทุกมาตรการมีทั้งด้านดีด้านเสีย ที่สำคัญคือมันทำให้เกิดความรู้สึก “เหลื่อมล้ำ” ในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงอยู่แล้ว และกำลังจะสูงมากขึ้น

ยิ่งกว่านั้น การบริหารประเทศด้วยรัฐบาลทหาร ซึ่งบางคนอาจเห็นว่าดีที่ตัดสินใจรวดเร็วเด็ดขาด ก็หนีไม่พ้นข้อด้อยอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่งคือ มองปัญหาด้วยทัศนะข้าราชการ ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนเดือดร้อนว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว เที่ยวไปสอนชาวนาให้ปลูกหมามุ่ย สอนชาวสวนยางปลูกสตอเบอรี่ กล้วยหอมทอง ซึ่งพูดไปก็ไลฟ์บอย แก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้เขาคับแค้นขึ้นเปล่าๆ

สองคือ การปกครองด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปิดกั้นเสรีภาพ เท่ากับตัดอำนาจเรียกร้องต่อรองของประชาชนผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ผลักให้ประชาชนต้องไปพึ่งระบบราชการ ที่รายงานตามลำดับชั้น ด้วยทัศนะข้าราชการ

ซ้ำการใช้อำนาจรักษาความสงบก็ยังไปซ้ำเติมผู้เดือดร้อน เช่นกรณีสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ซึ่งถูกนายจ้างญี่ปุ่นห้ามเข้าทำงานจากการเรียกร้องโบนัส พอมาชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน ก็ถูกบังคับให้สลายไม่เช่นนั้นจะถูกจับฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและยึดสถานที่ราชการ

ท่ามกลางปัญหาปากท้อง ประชาชนถูกห้ามเคลื่อนไหวเรียกร้อง รัฐบาลบอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาให้ด้วยโครงการ “ประชารัฐ” ซึ่งตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน “เจ้าสัว” ประกบรัฐมนตรี 12 คณะ (อีกด้านหนึ่งบอกว่าจะร่วมกับภาคประชาสังคม แต่ก็ใช้ ม.44 ปลดบอร์ด สสส.ซะแล้ว)

ความร่วมมือภาครัฐเอกชนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ครั้งนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เป็นการปกครองระบอบที่รัฐบาลมีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จ ประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นล่างคนชนบทไม่มีปากเสียง ไม่มีอำนาจต่อรอง เรียกร้องอะไรไม่ได้ อยู่ในภาวะยากลำบาก มีปัญหาปากท้อง คับแค้นตั้งแง่ต่อความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นทุกวัน แต่กลับเห็น “นายทุน” ต่อสายตรง เข้าไปนั่งออกมาตรการต่างๆ ร่วมกับรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตัวเองได้ประโยชน์ด้วย

“เจ้าสัว” อาจบอกว่าเข้าไปช่วยชาติ แต่บอกแล้วไงครับ นี่เป็นประเด็นอ่อนไหว กระแสตีกลับเมื่อไหร่ไม่รู้ด้วยนะ

Back to top button