ค้าปลีก-การแพทย์-ท่องเที่ยว หุ้นกำไรงามปี 67
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดตัวเลขยอดขาย-กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2566 พบว่ามียอดขาย 17,231,564 ล้านบาท
เส้นทางนักลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดตัวเลขยอดขาย-กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2566 พบว่ามียอดขาย 17,231,564 ล้านบาท (817 บริษัท คิดเป็น 99.51% จากทั้งหมด 821) ลดลง 2.6%
มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,649,990 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 961,042 ล้านบาท ลดลง 12.4% และ 10.7% ตามลำดับ โดยบจ.ที่มีกำไรมีจำนวน 626 บริษัท คิดเป็น 76.62%
ภาพรวมผลประกอบการที่อ่อนตัวลงทั้งยอดขายและกำไรจากการดำเนินงาน เป็นผลกระทบจากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลากหลายชนิด ทั้งในกลุ่มน้ำมัน สินค้าเกษตร และอาหาร อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้น 3.9% และอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูง แม้ต้นทุนการผลิตปรับลดลง 2.2% เฉพาะกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2566 ปรับตัวลดลงทั้งจากงวดเดียวกันปีก่อนและจากไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเติบโตต่อเนื่องจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ เช่น ธุรกิจการบิน โรงแรม พื้นที่เช่า ค้าปลีก และโทรคมนาคม ทั้งนี้บจ.ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ratio (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ระดับ 1.51 เท่า ลดลงจาก 1.54 เท่าของปี 2565
ในปี 2566 กลุ่มการค้าปลีกเติบโตได้ดี 11% จากปีก่อน มีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในระดับที่น่าพอใจ มีอัตรากำไรที่ดีขึ้น ขณะที่มีความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) อย่างดีเยี่ยม
ขณะที่ กลุ่มการแพทย์-สุขภาพ (Healthcare) เติบโตได้ 13% จากปีก่อน เป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่ากลุ่มอื่น ๆ จึงสามารถโชว์ตัวเลขรายได้เติบโตสูง เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ
สำหรับในปี 2567 นี้แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวในทางที่ดีและเร่งตัวขึ้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล เมื่องบประมาณ, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเริ่มเห็นผล
มีการประเมินว่ากลุ่มค้าปลีก, การแพทย์-สุขภาพ, ท่องเที่ยว ขนส่ง จะยังคงขยายตัวดี เป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) เพราะการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีอยู่ ส่วนกลุ่มโรงไฟฟ้าจะได้แรงหนุนจากค่าไฟฟ้าที่ขยับขึ้นเป็น 4.18 บาท/หน่วย
ขณะที่ ยังมีกลุ่มที่ต้องเผชิญความท้าทาย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะถูกกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว, การแข่งขันที่สูงของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ถูกกดดัน ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร (Margin)
ส่วนกลุ่มไฟแนนซ์ยังต้องติดตามผลขาดทุนรถยึด และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ต้องติดตามการบริหารสต๊อกและกำลังซื้อของลูกค้าแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมนี้ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในรัสเซีย-ยูเครน และในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางยังยืดเยื้อ
ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังสัญญาณการบริโภคภายในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ปี 2567 และผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ดังนั้น หากแนวโน้มเป็นไปตามคาดการณ์ แน่นอนว่ากลุ่มค้าปลีก-การแพทย์-ท่องเที่ยว จะเป็น 3 กลุ่มดาวเด่นของตลาดหุ้นไทยที่น่าจะสามารถโชว์การเติบโตได้อย่างสวยงามต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ผ่านมา