พาราสาวะถี
ให้ภาพบรรยายกับการปิ๊กบ้านเกิดของ ทักษิณ ชินวัตร แง่มวลชนไม่ต้องพูดถึงในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุด จะเป็นเรื่องแปลกเสียอีก
ให้ภาพบรรยายกับการปิ๊กบ้านเกิดของ ทักษิณ ชินวัตร แง่มวลชนไม่ต้องพูดถึงในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุด จะเป็นเรื่องแปลกเสียอีกหากไม่มีมวลชนไม่ว่าจะคนเสื้อแดงหรือประชาชนทั่วไปให้การต้อนรับ ขณะที่บรรดานักการเมืองในส่วนของรัฐมนตรี และ สส.พรรคเพื่อไทยต้องรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด จะถือว่าเป็นคำสั่งตรงเลยก็ว่าได้ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่เสนาบดี ทำงานในสภาให้เรียบร้อยก่อน
ที่ถูกจับตาเป็นพิเศษกลับเป็นรัฐมนตรีจากพรรคร่วม ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ไปรอต้อนรับและดูแลตั้งแต่วันแรก นอกจากนั้นยังมี สส.ของพรรคสืบทอดอำนาจในสายของผู้กองมันคือแป้งที่ตามไปเป็นกำลังใจให้อดีตนายกฯ ด้วย นั่นจึงทำให้คนมองเชื่อกันว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.จะเหลือ สส.กี่คน และน่าจะถึงเวลาที่พี่ใหญ่ต้องวางมือตามน้องเล็กอย่างเป็นทางการเสียที
อย่างไรก็ตาม การกลับบ้านเกิดของทักษิณรอบนี้ ประเด็นที่ถูกโยงไปถึง เศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลก็คือ ท่วงทำนองของอดีตนายกฯ ที่ไม่ใช่แค่ไปพบญาติ ไหว้อัฐิบรรพบุรุษ แต่มีกิจกรรมในการเยี่ยมชมหลายพื้นที่เหมือนเป็นการไปตรวจราชการ จึงทำให้มีการเร้ากระแสนายกฯ 2 คน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อม หรือหวังผลในแง่ของความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย แน่นอนว่า ทั้งอดีตนายกฯ และนายกฯ ปัจจุบันต่างรู้และเข้าใจว่าต้องมีพวกจ้องนำไปขยายผลอยู่แล้ว
ดังนั้น คำตอบของทักษิณจึงเป็นการยืนยันบริบทของตัวเองว่า “ตนเป็นอดีตนายกฯ” คนอดีตก็มีหน้าที่ให้กำลังใจคนปัจจุบัน เขาถามอะไร ถ้าเรามีความรู้เราก็ตอบ สอดรับกับการให้สัมภาษณ์ของเศรษฐาที่บอกกับนักข่าวแม้ว่าจะไม่ได้มีการพูดคุยกันเต็มที่ระหว่างมื้ออาหารค่ำที่บ้านพักของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และน้องเขยของทักษิณ แต่ก็ยอมรับว่าอดีตนายกฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเศรษฐกิจ จึงต้องขอคำปรึกษาในเรื่องนี้เมื่อมีโอกาส
ตามสไตล์ของเศรษฐา ซึ่งจะว่าไปก็มีความคล้ายกับทักษิณนั่นก็คือ มีความเป็นตัวเอง และมั่นใจสูง จึงไม่ลังเลที่จะตอบทุกคำถามของนักข่าว รวมไปถึงประเด็นที่ว่าความนิยมชมชอบของประชาชนต่ออดีตนายกฯ ดูเหมือนว่าจะมีมากกว่านายกฯ ปัจจุบันเสียอีก ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับแต่โดยดีว่า “ท่านอยู่มาและเป็นนายกฯ มากี่ปี และแลนด์สไลด์มา 377 เสียง อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน ผมไม่ต้องคิดว่าถ้าเกิดคนชื่นชอบมากกว่าหรอก แน่นอนครับคนรักท่านมากกว่าผมแน่นอนครับ ทำใจได้อยู่แล้วครับ”
เป็นการไม่โกหกตัวเอง แต่เศรษฐาก็ยืนยันต่อบทบาท หน้าที่และอำนาจในปัจจุบันของตัวเอง โดยย้ำว่า ตนและอดีตนายกฯ มีหน้าที่ต่างกันในวันนี้ วันนี้ตนเป็นนายกฯ ก็พยายามที่จะแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่รู้สึกอะไรกับการถูกเปรียบเทียบ หรือการโหมกระแสเรื่องประเทศมีนายกฯ สองหรือสามคน ความจริงคำตอบของทักษิณก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ต่อกระแสดราม่าทั้งหลายแหล่น่าจะเป็นการฉายภาพได้ชัดที่สุด “คำว่าดราม่าก็คือเรื่องไม่จริง จบโอเคไหมครับ”
ในส่วนของเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล คงเข้าใจจังหวะก้าวทางการเมืองของทักษิณเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะปฏิเสธอย่างไร สุดท้าย ย่อมหนีไม่พ้นต่อการมีบารมีทั้งกับพรรคแกนนำและพรรคร่วม เพียงแต่ว่าจะมีเส้นแบ่งเพื่อเป็นการให้เกียรติต่อเศรษฐา ให้โอกาสโชว์ฝีมือ และสร้างผลงานให้ปรากฏ เป็นการช่วยกันรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล และความมั่นคงทางการเมือง เพราะเป้าหมายต่อไปคือการส่ง แพทองธาร ชินวัตร ก้าวไปเป็นนายกฯ หญิงคนที่สองของประเทศให้ได้
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาลเศรษฐานั้น คือจังหวะที่จะเป็นการแสดงศักยภาพในการบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยผู้มีความสามารถในด้านการบริหาร โดยที่เศรษฐาคือตัวเลือกที่ใช่ ซึ่งถูกวางตัวไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ขณะที่อุ๊งอิ๊งนั้น การเข้ามากุมบังเหียนพรรคเพื่อไทยคือการปูพื้นสร้างฐานและความแข็งแกร่งทางการเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นการดูทิศทาง สถานการณ์ตามข้อตกลงด้วยว่า ทุกอย่างจะราบรื่น เรียบร้อยหรือไม่
ประสาคนที่ถูกหลอกหลายหน ประสบการณ์ที่โชกโชนทั้งการถูกยุบพรรค และการต้องระหกระเหินอยู่ในต่างแดน ทำให้ทักษิณเรียนรู้ ปรับกระบวนการคิด และวิธีการทำงานทางการเมืองจากเดิมไปมากพอสมควร ส่วนดีลสำคัญที่ผ่านมาจนถึงการได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดในรอบ 17 ปีนั้น ถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ได้ว่าทุกอย่างได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ หากประคับประคองให้เศรษฐาอยู่ครบเทอม หลังเลือกตั้งครั้งหน้าจึงถือว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการที่จะดันให้ลูกสาวก้าวไปถึงจุดที่วางแผนเอาไว้
สำหรับเศรษฐาคงหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถาม หากทำผลงานได้ดีตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะไม่คิดอยู่ในตำแหน่งต่อไปอย่างนั้นหรือ การได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ โดยเพื่อไทยเทเดิมพันหมดหน้าตักนั้น ถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่า และได้กำไรตามที่ต้องการแล้วหากมองในแง่ความเป็นนักธุรกิจ ซึ่งบทบาทหลังจากนั้น ถ้ายังไม่วางมือทางการเมือง ย่อมจะมีพื้นที่ได้แสดงความสามารถต่อไปเหมาะสมกับความเป็นอดีตนายกฯ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นต้องผ่านด่านอีกสามปีครึ่งที่เหลือไปก่อน การซักฟอกของพวกลากตั้งปลายเดือนนี้และพรรคฝ่ายค้านต้นเดือนหน้า จะถือเป็นด่านพิสูจน์ชั้นเชิงทางการเมืองของเจ้าตัวอย่างแท้จริง
มาถึงตรงนี้ต้องยอมรับความจริงกันว่า ทิศทางการเมืองของประเทศได้เปลี่ยนจากเผด็จการสืบทอดอำนาจกลับคืนสู่เส้นทางสายประชาธิปไตยแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้เบ่งบานเหมือนหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ความบอบช้ำของประเทศจากผลพวงการสร้างความขัดแย้ง แตกแยก และสร้างระบอบอุปโลกน์จนเกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลา 8 ปี คำพูดของทักษิณที่ว่า ตนกลับมาใครไม่ชอบหน้าก็ต่างคนต่างอยู่ไป เป็นการส่งสัญญาณเหมือนที่ตัวเองได้รับมา เห็นต่างกันได้ แต่อย่าไปขยายผลสร้างความเกลียดชัง อยู่กันด้วยความเข้าใจต่อทุกความเป็นไป ใคร พวกไหนยังสุดโต่งบอกได้คำเดียวว่า อยู่ยาก ถึงขั้นหมดอนาคต