พาราสาวะถี

ยังมีเสียงวิจารณ์ต่อเนื่องจากการเดินทางกลับบ้านเกิดของ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงเวลา 3 วันที่ใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่


ยังมีเสียงวิจารณ์ต่อเนื่องจากการเดินทางกลับบ้านเกิดของ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงเวลา 3 วันที่ใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน มีเรื่องจับผิดและหาเหตุไปขยายผลต่ออดีตนายกฯ และโจมตีรัฐบาลได้หลายประเด็น ลำพังแค่นายใหญ่คนเดียวก็มีเรื่องให้พวกขาประจำ และฝ่ายค้านรุ่นใหม่อย่างก้าวไกลกำลังจะหันไปเล่นเกมการเมืองแบบเดิมคือ หาเหตุเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล และทำลายคะแนนนิยมฝ่ายตรงข้าม

การลงพื้นที่และพบปะมวลชนอย่างล้นหลามของทักษิณด้วยอิริยาบถที่ดูสดชื่น แจ่มใสนั้น อย่างแรกที่ถูกตั้งเป็นข้อกังขาและนำไปหาเหตุเพื่อเปิดแผลต่อคือ การป่วยหลังจากต้องโทษจำคุกเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ไม่กี่ชั่วโมง แล้วไปนอนรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จนกระทั่งได้รับการพักโทษนั้น สรุปแล้วป่วยหนัก ป่วยจริงหรือไม่ ทำไมถึงฟื้นตัวได้เร็ว ตรงนี้มีคนเรียกร้องให้เปิดเผยผลการตรวจ วินิจฉัยและการรักษาของแพทย์ผู้ดูแลด้วย

แน่นอนว่า ด้วยกฎหมายย่อมไม่สามารถที่จะทำได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะไปดำเนินการด้วยวิธีใดก็ตาม จึงเป็นการชวนให้สังคมร่วมสงสัย และเป็นการเปิดประเด็นปูทางเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในสภาทั้งจากการซักฟอกของพวกลากตั้ง และฝ่ายค้าน ซึ่งตรงนี้ในส่วนของเศรษฐา และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่าง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องเป็นผู้ชี้แจง มีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบร่วมคือกรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ

คงไม่มีปัญหาอะไร เมื่อข้อมูลทางการแพทย์เปิดเผยไม่ได้ ก็เป็นเรื่องทางคดีที่ตั้งแต่บินกลับประเทศ เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปขึ้นศาล ศาลมีคำพิพากษา นำตัวเข้าคุกและเข้าไปทำการรักษา กระทั่งการขอพระราชทานอภัยโทษ ทั้งหมดนั้นต้องไม่ลืมว่าเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เมื่อเป็นเช่นนี้ทั้งเศรษฐาและรัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะชี้แจงได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง จะตอบได้เฉพาะในส่วนที่เป็นการพักโทษ ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการ ระเบียบ และข้อกฎหมายทุกประการ

ดังนั้น เรื่องของการป่วย และการได้รับการดูแลจนถูกมองว่าเป็นนักโทษเทวดา หรือมีอภิสิทธิ์ก็จะเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง เพื่อดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเท่านั้น ตรงนี้คนส่วนใหญ่ที่ก้าวข้ามทักษิณไปแล้วคงไม่มีใครให้ความสำคัญ ประการต่อมาที่ฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลใช้เป็นข้อมูลโต้ตอบ หรือแสดงความเหนือชั้นกว่า ทักษิณและเศรษฐาคือ มุมมองต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและแนวทางในการแก้ไขปัญหา

เห็นได้จาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่วิจารณ์ความเห็นของทักษิณที่ว่า วิกฤตเศรษฐกิจยุคนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า โดยเจ้าตัวแสดงให้เห็นว่ามองปัญหาขาดกว่าอดีตนายกฯ และชี้ให้เห็นแนวทางในการแก้ไขว่าไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำว่าวิกฤต และใช้ตัวเลขจีดีพีเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว เพียงเพื่อต้องใช้มาตรการกระตุ้นผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นตัวตั้งที่สำคัญ

มันก็เป็นความเห็นทางวิชาการ หรือแนวคิดของคนที่อยากทำแต่ไม่ได้มีโอกาสจะทำ เมื่อเศรษฐาในฐานะผู้นำรัฐบาลมีอำนาจ หน้าที่ ย่อมต้องให้โอกาสในการที่จะได้ลงมือทำตามแนวคิด และวิธีการที่วางไว้ ใครจะเสนอความเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะเมื่อเป็นทฤษฎีไม่มีการนำไปปฏิบัติมันก็ไม่ต่างจากการขายฝัน ผลจากการลงมือทำไม่ว่าจะช้าหรือเร็วจะเป็นบทพิสูจน์ ตรงนี้จะเป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะทางด้านการเมืองว่า ใครนิ่งกว่ากัน

มากไปกว่านั้น ใครที่ว่าเผด็จการสืบทอดอำนาจใช้ไอโอในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามหนักหนาสาหัสนั้น หากหันไปพิจารณาข่าวสารทางด้านการเมือง โดยเฉพาะที่ผ่านโลกโซเซียล ก็น่าจะเห็นภาพชัดว่า แท้จริงแล้วพวกที่โอดครวญว่าเป็นผู้ถูกกระทำนั้น ใช้วิธีการสามานย์เหมือนที่กล่าวหาคนอื่นมากกว่าพวกอนุรักษนิยมสุดโต่งเสียอีก นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เพื่อนที่เคยเป็นมิตรกันก่อนเลือกตั้ง และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย

ขณะเดียวกัน วลีทองที่ทักษิณทิ้งท้ายก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ว่า “ผมกลับมาใครไม่ชอบหน้าก็ต่างคนต่างอยู่ไป” กำลังถูกพวกฝ่ายค้านขาประจำนำมาเป็นประเด็นโจมตี ในทำนองที่ว่าประเทศไทยไม่ใช่บริษัทจะมาคิดกันแบบนั้นไม่ได้ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงพวกที่ยังคงมีความแค้นส่วนตัว พยายามที่จะปลุกกระแสความเกลียดชังให้เกิดขึ้นอีก ทั้งที่ ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ มันต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง และนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้แล้ว

จึงไม่แปลกที่พวกหนึ่งยังคงย่ำอยู่กับที่เป็นพวกนักการเมืองดึกดำบรรพ์ พวกหนึ่งทำตัวเป็นคนรุ่นใหม่ขายฝัน และท้าทายกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ส่วนนักการเมืองอาชีพที่เข้าใจความเป็นไป พยายามปรับตัวเพื่อให้ประเทศได้ก้าวไปในทิศทางที่ควรจะเป็นหลังจากจมปลักอยู่กับความขัดแย้งมายาวนานเกือบ 20 ปี  เหมือนที่ทักษิณว่า โจทย์ของปัญหาทั้งเศรษฐกิจ และเรื่องระหว่างประเทศเปลี่ยนไปและยากกว่าเดิม ฝ่ายการเมืองต้องร่วมมือกัน ต้องให้กำลังใจข้าราชการประจำและนักการเมือง ตรงนี้อาจทำให้เห็นว่าใคร พวกไหนที่มองประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเป็นหลัก

ทั้งนี้ การโจมตีประเด็นประเทศมีนายกฯ ซ้อน หรือนายกฯ สองคนนั้น ไม่ได้ทำให้เศรษฐายี่หระ มิหนำซ้ำ ยังขานรับเรื่องที่จะลงพื้นที่พร้อมทักษิณอีกต่างหาก ด้วยเหตุผลที่ว่า อดีตนายกฯ เป็นผู้นำประเทศที่มีความนิยมสูงมาก ถ้าไม่ดึงช่วยประเทศไทยก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ เช่นเดียวกับที่ว่าทักษิณมีอิทธิพลเหนือพรรคเพื่อไทย เจ้าตัวก็ยอมรับว่าแน่นอนอยู่แล้วในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค และเป็นจิตวิญญาณของพรรค ตรงไปตรงมาตามสไตล์เศรษฐา ถ้าหวังจะต้อนเข้ามุมหรือให้เป็นไปตามธงที่ตั้งไว้คงลำบาก เพราะการพูดความจริง 10 ครั้งคำตอบย่อมเหมือนเดิม ไม่เหมือนพวกที่พูดเรื่องเท็จให้เป็นจริงที่จะกลับกลอกตลอดเวลา

Back to top button