NER ตีปีกรับราคายางพุ่ง หนุนกำไรปัง!
กลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง สำหรับ NER หลังราคายางพาราดีดตัวสูงขึ้น ล่าสุดพุ่งทะลุ 90 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาสูงสุดในรอบ 7 ปี 1 เดือน
คุณค่าบริษัท
กลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง สำหรับหุ้นยางพารา หลังจากราคายางพาราดีดตัวสูงขึ้น ล่าสุดพุ่งทะลุ 90 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาสูงสุดในรอบ 7 ปี 1 เดือน โดยคาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อไป ทำให้หุ้นยางพาราปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า หนึ่งในนั้นคือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ได้รับเซนติเมนต์ในเชิงบวก
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 ของ NER แม้กำไรดร็อปลงมาอยู่ที่ 1,547.60 ล้านบาท ลดลง 11.58% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,748.00 ล้านบาท โดยมีปริมาณขายยางพาราอยู่ที่ 497,053 ตัน เพิ่มขึ้น 50,963 ตัน หรือ 11.42% คิดเป็นรายได้จากการขายรวม 25,045.17 ล้านบาท ลดลง 0.50% แบ่งเป็น รายได้จากการขายในประเทศ 16,259.49 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64.92% ของยอดขายรวม ลดลง 2.65% ส่วนรายได้จากการขายต่างประเทศ 8,785.68 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.08% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 3.73%
ทว่า ในปี 2567 คาดสถานการณ์สดใส รับอานิสงส์ความต้องการยางพาราจากจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่สูงขึ้น ขณะที่ฝั่ง Supply หดตัวหรือฟื้นได้จำกัด จากปัญหาเอลนีโญ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียคาดผลผลิตจะลดลงต่ำกว่า 2 ล้านตันต่อปี จากปี 2566 ที่ราว 2.1 ล้านตัน หนุนให้ราคายางพาราในตลาดโลกเป็นทิศทางขาขึ้น
ขณะที่ NER มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว จากคำสั่งซื้อ (Order) ล่วงหน้าที่ลากยาวไปกลางปี 2567 สอดคล้องกับดีมานด์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัท ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก ช่วยหนุนความต้องการใช้ยางพาราสูงขึ้น
ประกอบกับแนวโน้มเงินบาทที่ไม่ได้แข็งค่าจนเกินไป และในปี 2567 บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 350,000 ตัน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตในปี 2568 เพิ่มเป็น 698,000 ตัน โดยคาดว่าใช้งบลงทุน 1,485 ล้านบาท จะช่วยหนุนการเติบโตของ NER
โดยในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายมีปริมาณการขายยางพารา 515,000 ตัน ภายใต้กำลังการผลิตเท่าเดิม แต่รายได้จากการขายจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 27,000 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทมา เนื่องจากคาดว่าราคายางพาราจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่าปี 2566 ประมาณ 15% และช่วยหนุนราคาขายของบริษัทให้สูงขึ้น 15% เช่นกัน
ด้านบล.ฟิลิลป ระบุว่า ราคายางในไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าราคาตลาดโลก ซึ่ง NER ได้ประโยชน์มากกว่าบริษัทอื่น เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ในประเทศ 65% สูงสุดในกลุ่มผู้ผลิตยาง โดยปีนี้จะได้ประโยชน์จากราคาเฉลี่ยยางที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในไตรมาส 1/2567 ยังไม่แผ่ว และในช่วงไตรมาส 2 และ 3/2567 จะเห็นอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่สูงกว่าในไตรมาส 1/2567
บล.หยวนต้า คาดแนวโน้มกำไรในไตรมาส 1/2567 ของ NER จะเติบโตทั้งไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันปีก่อน และในไตรมาส 2/2567 จะดีกว่าในไตรมาส 1/2567 และอาจทำนิวไฮได้ จากราคาขายที่ทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา ขณะที่ความต้องการที่สูง และ Supply ที่มีจำกัด ทำให้ราคายางทุกประเภท คาดว่าจะยังสูงกว่าปัจจุบันได้อีกอย่างมีนัยสำคัญ ปรับประมาณการกำไรปี 2567 ขึ้น 17% จากการปรับ GPM ขึ้น
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น NER ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 7.53 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 18.16 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายต่ำกว่าตลาดหลายเท่า อย่างไรก็ตามถ้าไปดู P/BV ที่ระดับ 1.56 เท่า ก็ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.34 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 7.01 บาท จากราคาต่ำสุด 5.70 บาท และราคาสูงสุด 8.40 บาท