พาราสาวะถี
วันนี้ เศรษฐา ทวีสิน ยืนยัน “ผมมาแน่นอน” เพื่อชี้แจงญัตติที่พวกลากตั้งขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง
วันนี้ เศรษฐา ทวีสิน ยืนยัน “ผมมาแน่นอน” เพื่อชี้แจงญัตติที่พวกลากตั้งขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงแนวทางปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 การข่าวของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ยืนยันตรงกัน ไม่มีอะไรน่าหนักใจ เห็นได้จากจำนวน สว.ที่เข้าชื่อเพื่ออภิปรายจำนวน 27 คนจากทั้งหมด 250 คน เป็นการส่งสัญญาณต่อท่าทีของเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างดีว่าสนับสนุนการดำเนินการครั้งนี้หรือไม่
ประเภทที่ว่าจะมีทีเด็ดส่งท้ายก่อนจะโบกมือบ๊าย บายเก้าอี้ลากตั้ง ประเด็นที่มองเห็นมีเพียงเรื่องเดียวหากจะเรียกร้องความสนใจคือกรณี ทักษิณ ชินวัตร แต่คำถามคือแล้วจะอภิปรายกันในเรื่องอะไร ถ้าจะบอกว่ากระบวนการที่ดำเนินการกับอดีตนายกรัฐมนตรีอยู่นอกเหนือกฎ กติกา มีอภิสิทธิ์ ก็ยังมองไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ในเมื่อฝ่ายที่เกลียดชังเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อกลับมาแล้วกลับจะอ้างโน่นนี่นั่นหาเหตุให้เป็นไปตามความต้องการ ถ้าเช่นนั้นจะยึดอะไรระหว่างความถูกต้องกับถูกใจ
ส่วนกรณีที่จะโจมตีว่าป่วยไม่จริง อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทยก็ดักคอว่า ทักษิณออกจากโรงพยาบาลตำรวจมาระยะหนึ่งแล้ว อาการจะดีขึ้นไม่ได้หรือ มองในแง่ของมนุษยธรรรมคือใจเขาใจเรา ตนว่าก็เป็นปุถุชนธรรมดาที่เมื่อมีอาการป่วยก็มีวันดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของ สว.เป็นไปตามเหตุ เพราะเวลาที่จะหมดจากเก้าอี้บีบเข้ามาทุกขณะ จึงคิดว่าเป็นช่วงนาทีท้าย ๆ ก่อนที่จะหมดวาระไป หากเป็นคนคุณภาพเนื้อหาสาระที่จะอภิปรายจะเป็นตัวตัดสิน
ประชาชนยุคนี้ไม่ได้กินหญ้า ฟัง เสรี สุวรรณภานนท์ ตัวตั้งตัวตียื่นญัตตินี้ ยอมรับเองการอภิปรายครั้งนี้คิดว่าไม่ดุเดือด เพราะเป็นการพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ได้ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่เป็นเรื่องการแก้ปัญหาการบริหารประเทศ แต่ก็เชื่อได้ว่าพวกขาประจำที่กำลังจะกลายเป็นขาลอย ไร้หัวโขน ไม่รู้ว่าจะกลับไปทำมาหากินยังไง คงจะทิ้งทวนด้วยการฟาดงวง ฟาดงา เพราะดูชะตากรรมแล้วอยู่ในโหมดหมดอนาคต ไร้หนทางที่จะได้ชูคอเหมือนช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
ดูเนื้อหาจากญัตติที่พวกลากตั้งได้ยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไป เห็นได้ว่าน่าจะเป็นเวทีให้เศรษฐาและคณะได้แสดงผลงานแก้ปัญหาเสียมากกว่า เพราะพวกลากตั้งจะตามและจี้ถาม ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติ และปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาด้านพลังงาน ปัญหาด้านการศึกษา และสังคม ปัญหาด้านการต่างประเทศ และการท่องเที่ยว ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
สถานการณ์ทางการเมืองช่วงนี้ไม่มีอะไรให้ต้องวิตก โดยเฉพาะกับตัวนายกฯ เศรษฐา และรัฐบาล เห็นได้จากข่าวปล่อยแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ระหว่างการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่พยายามปลุกกระแสว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะมีการคว่ำร่างเพื่อเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศเป็นพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ใครเชื่อก็บ้า คนที่ปล่อยก็เบาปัญญา จะมีนักเลือกตั้งสมองทึบพวกไหนที่จะไปขุดเอาคนที่ยังไม่รู้ว่าแค่อนาคตหัวหน้าพรรคจะรักษาไว้ได้หรือไม่มาเป็นผู้นำ
คนที่เคยเดินเกมในลักษณะนี้ผ่านการโหวตไม่ไว้วางใจผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอย่าง ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่แม้จะมีหัวโขนเป็นเลขาธิการพรรคสืบทอดอำนาจ แต่ท่าทีที่แสดงออกชัดเจนว่าเอนเอียงไปข้างไหน เช่นนี้ใครจะกล้าทำเช่นนั้น ไม่ต้องพูดถึงพรรคร่วมอื่นที่หากแตกแถวก็จะหมดปัญญาที่จะกลับเข้ามาสู่เส้นทางแห่งอำนาจอีก ไม่ต้องพูดถึงเศรษฐาว่าจะลาออกหรือไม่ หลังจากได้เห็นการเซ็นย้ายสองบิ๊กตำรวจ ก็น่าจะเป็นการยืนยันได้ว่า เจ้าตัวมั่นใจในอำนาจที่ตัวเองมีขนาดไหน
เมื่อเริ่มกระชับอำนาจ และแสดงบทบาทของการตัดสินใจที่เด็ดขาด นั่นย่อมทำให้บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต้องกระตุ้นคนที่เป็นรัฐมนตรีให้เร่งสร้างผลงาน ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องจับมือกันทำงานในสภาให้ขันแข็ง ประเภทสภาล่ม องค์ประชุมไม่ครบจะต้องไม่เกิด ขณะเดียวกัน เมื่อใกล้จะหมดสมัยประชุมสภาฯ แล้ว ปิดท้ายด้วยการซักฟอกรัฐบาลโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของพรรคฝ่ายค้าน อุณหภูมิการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลก็จะลดลง ความเข้มข้น แรงกดดันจะไปอยู่ที่ฝ่ายบริหารแทน
เริ่มมีให้เห็นแล้วกับการที่ วรชัย เหมะ ที่ปรึกษารองนายกฯ “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย ออกมาเรียกร้องให้นายกฯ ปรับ ครม.ได้แล้ว ด้วยเหตุผลว่า ต้องนำคนมีความรู้ ความสามารถ มีความขยัน มาทำงานแก้ปัญหาของแต่ละกระทรวง เพื่อให้ได้ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ยกระดับชีวิตของประชาชน อย่าปล่อยให้รัฐบาลทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาแก่ประชาชน ด้วยฐานะคนที่พูดย่อมแปลความหมายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่า น่าจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนกันทางอ้อม
จะมาบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัวคงฟังไม่ขึ้น การชี้เป้าว่าเศรษฐาต้องปรับรัฐมนตรีหลายกระทรวงทั้งจากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ที่ได้ตำแหน่งในลักษณะต่างตอบแทนจากการเลือกตั้ง หลายคนไม่มีผลงานออกมาให้จับต้องได้ เวลาที่ผ่านมาถือว่าเป็นการให้เกียรติคนเหล่านี้แล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีการประเมินผลงานกันมาต่อเนื่อง และพบคนที่เป็นจุดอ่อน ไม่ควรให้โอกาส แต่ก็น่าสนใจเพราะเสี่ยอ้วนเองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ จะไม่ปรับจนกว่ารัฐมนตรีทั้งหมดจะได้ใช้งบประมาณในการทำงานเต็มที่แล้ว นี่อาจจะเป็นการกระทืบเท้าขู่ หรือเตือนกันล่วงหน้าให้รีบทำผลงาน
หลังจากที่พวกลากตั้งผ่านร่าง พ.ร.บ.งบปี 2567 ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ไปแล้ว คาดว่าไม่เกินต้นเดือนพฤษภาคมหรือเร็วกว่านั้น งบประมาณจะเริ่มใช้ได้ หมายความว่า รัฐมนตรีจะมีเวลาพิสูจน์ตัวเองอย่างน้อย 3 เดือน ไทม์ไลน์ที่จะมีการปรับ ครม.จึงจะอยู่ช่วงตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป หรืออาจจะช้าไปกว่านั้นเล็กน้อย คาบเกี่ยวกับจังหวะเวลาที่ทักษิณน่าจะพ้นโทษได้รับอิสรภาพแบบเต็มตัวประมาณเดือนสิงหาคม ย่อมจะส่งผลต่อการพิจารณาตัดสินใจปรับเปลี่ยนภายในรัฐบาล หลังจากส่งกำลังใจ ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องมาแล้ว