แนวโน้มสังคมมุ่งสู่เผด็จการของไทย

บทสรุปต่อไปนี้ของผู้เขียนอาจจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสังคมไทยเรามีแนวโน้มมุ่งสู่เผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย


บทสรุปต่อไปนี้ของผู้เขียนอาจจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสังคมไทยเรามีแนวโน้มมุ่งสู่เผด็จการมากกว่าประชาธิปไตยและสังคมเปิดในความหมายที่คาร์ล ปอปเปอร์ ได้สรุปเอาไว้เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ามีเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

ข้อแรก ชัยชนะของพวกขวาจัดที่ถูกครอบงำโดยปรัชญาการเมืองของคาร์ล ชมิตต์ ในเรื่องการสร้างศัตรูเทียมซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่าจะต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสุดฤทธิ์ในฐานะแกนหลักของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จนกระทั่งเกิดเป็นข้อสรุปร่วมของพลังอนุรักษนิยมในการปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างเลยเถิดว่าผู้ที่ทำการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์กลายเป็นศัตรูของรัฐต้องกำจัดให้สิ้นซาก

แท้ที่จริงแล้ว คนที่ทำการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยตรง แต่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของอำนาจรัฐไทยที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่การที่เหมารวมว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดล้วนมีเจตนามุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งล้วนเป็นข้อสรุปที่เกินเลยเข้าข่ายการสร้างศัตรูเทียมขึ้นมา

อย่างที่ทราบกันดี ปรัชญาการเมืองของคาร์ล ชมิตต์ คือปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังการขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซีหรือพรรคสังคมชาตินิยมโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใช้เป็นทางขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง และนำพาชาติเยอรมนีทำการสังหารหมู่ชาวยิวอย่างเหี้ยมโหดด้วยข้อกล่าวหาว่ามีเลือดไม่บริสุทธิ์แบบชาวอารยัน และนำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองสร้างความหายนะครั้งใหญ่มาแล้ว

ข้อสอง ความเฟื่องฟูของลัทธิทหารนิยมที่เปิดโอกาสให้กองทัพฉวยโอกาสเข้าทำรัฐประหาร ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์นิรโทษกรรมให้กับตัวเองและเข้ายึดครองอำนาจนำในรัฐวิสาหกิจที่ทำการผูกขาดเศรษฐกิจของประเทศ และยังแต่งตั้งกลไกรัฐสภา เช่น สว. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนืออำนาจรัฐไทย จนกระทั่งเข้าข่ายทหารทำอะไรก็ไม่ผิดเพราะเป็นพันธมิตรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อที่สาม อำนาจรัฐของระบบราชการที่แมกซ์ เวเบอร์ ได้เคยเอ่ยถึงว่าเป็นระบบที่เละเทะ สร้างอภิสิทธิ์และรักษาผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ประชาชน และมีอำนาจครอบงำสังคมไว้อย่างแข็งแกร่ง

ข้อที่สี่ กลุ่มทุนนิยมผูกขาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคมยังคงมีอำนาจผูกขาดและมีอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนกลุ่มทุนใหญ่น้อยรายที่ผูกขาดธุรกิจ เช่น กลุ่มซีพี กลุ่มเสี่ยเจริญ กลุ่มจิราธิวัฒน์ กลุ่มกาญจนพาสน์ กลุ่ม ช. การช่าง กลุ่มทรู กลุ่มดีแทค กลุ่มบุญรอด กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มทุนการเงิน อย่างเช่น กลุ่มโสภณพนิช  กลุ่มล่ำซำ กลุ่มทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนกลุ่มพลังงาน ได้แก่ กลุ่ม ปตท. กลุ่มกัลฟ์ (ซึ่งถือครองหุ้นอินทัชไว้ด้วยมากกว่า 50%) กลุ่มทุนเหล่านี้ถือครองทรัพยากรทางเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 80%

ปัจจัยที่กล่าวมาแล้วทั้งสี่ข้อ ทำให้การเมืองไทยมีลักษณะบิดเบี้ยว เข้าสู่อำนาจเผด็จการมากกว่าจะเป็นประชาธิปไตย นี่ยังไม่รวมถึงปัจจัยภายนอกอันได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับจีนที่เปิดช่องให้ทุนจีนเข้ามามีบทบาทในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจรับซื้อยางพารารายใหญ่ และธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งทุนจีนเหล่านี้ยากจะบอกได้ว่าส่งเสริมประชาธิปไตยของไทยให้เบ่งบานมากขึ้น

Back to top button