รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
การตั้งราคารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในงานมอเตอร์โชว์ที่มีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ทำเอาค่ายรถยนต์ตาค้างเพราะราคาลดลงเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคัน
การตั้งราคารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในงานมอเตอร์โชว์ที่มีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ทำเอาค่ายรถยนต์ตาค้างเพราะราคาลดลงเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคัน นอกจากจะทำให้ค่ายรถยนต์ในญี่ปุ่นและยุโรปผวากับสงครามราคาที่เกิดขึ้นแล้วยังทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของค่ายรถยนต์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังทำให้ตลาดรถมือสองสั่นสะเทือนอย่างหนักในราคาขายรถยนต์ที่ลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ค่ายรถยนต์จากจีนอย่างค่าย BYD และค่ายฉางอาน สามารถแจ้งเกิดในตลาดประเทศไทยอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เพียงแต่อาศัยข้อตกลงจีน-ASEAN : AFTA ที่ยกเว้นภาษีศุลกากรระหว่างกัน อีกทั้งยังอาศัยผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลไทยที่ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV คันละ 2 แสนบาท
ความได้เปรียบดังกล่าวทำให้ค่ายรถยนต์จากจีนดาหน้ากันเสนอขายสินค้ารุกไล่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่เดิมได้อย่างมาก ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผลดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษจากรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปภายในหรือ ICV แต่ก็ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นชัดเจนในการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน (CBU) แทนที่จะมีการตั้งโรงงานในไทยซึ่งจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างที่โรงงานญี่ปุ่นเคยทำ รวมทั้งผลประโยชน์ในการจ้างงาน
การรุกตลาดที่รุนแรงจากค่ายรถยนต์ของจีนถือเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นต้องเป็นฝ่ายตั้งรับและเสียส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้กับจีนอย่างเบ็ดเสร็จ เปรียบกับการรุกตลาดกล้องวงจรปิดในตลาดทั่วโลกของจีนและตลาดอุปกรณ์พกพามือถือที่แบรนด์ดังของจีนอย่าง OPPO และ VIVO ยึดครองตลาดล่างอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ตลาดบนก็มี HUAWEI เคลื่อนตัวเข้ายึดครองตลาดอย่างเงียบ ๆ
ความมุ่งมั่นจากค่ายรถยนต์ของจีนในการเจาะตลาดรถยนต์ไทยนั้นจะเห็นได้ว่ามีทั้งด้านคุณภาพและปริมาณผสมกัน เพราะนอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่คัดสรรมาโดยเฉพาะที่คัดเอารุ่นท็อปอย่างค่ายรถเอ็มจีที่มีผู้ถือหุ้นเป็นยักษ์ใหญ่ของไทย (กลุ่มซีพี) และค่าย GWM ที่ชูโรงยืนหยัดทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง ORA GOOD CAT และค่ายวอลโว่ที่นำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ามาตรฐานยุโรปจนทำให้ค่ายรถยนต์ยุโรปอย่างเบนซ์และ BMW ต้องปรับตัวนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นท็อปให้ตลาดไทยตามไปด้วย
ทิศทางการแข่งขันของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทำให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นต้องปรับกลยุทธ์สู้ หลังจากที่ครองตลาดมายาวนาน เร่งนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าแทนที่รถยนต์ใช้สันดาปภายในและรถยนต์ไฮบริดเพื่อรักษาฐานลูกค้าให้ได้ โดยเฉพาะค่ายโตโยต้าและฮอนด้าที่เคยจะถ่วงรั้งเทคโนโลยีไฮบริดก็ต้องปรับมาเป็นรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์เพื่อเร่งให้มีการผลิตและนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าในตลาดไทย ถือเป็นปรากฏการณ์ market disruption ที่มาเร็วเกินคาดและจะไม่มีวันหวนคืนไปสู่จุดเดิมอีก ถ้าหากว่าตลาดรถยนต์มือสองของไทยยอมรับสถานะของรถยนต์ไฟฟ้าในฐานะผู้เล่นหลักของตลาดอย่างจริงจัง แม้ว่าในขณะนี้จะยังจำกัดในตลาดรถยนต์มือหนึ่งเท่านั้น