‘ญี่ปุ่น’ เริ่มต้นขึ้นดอกเบี้ย.!?

จากผลสำรวจจากธนาคารกลางญี่ปุ่น บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นเชิงบวกภาคบริการญี่ปุ่น ไต่ระดับเพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดรอบ 33 ปี


จากผลสำรวจจากธนาคารกลางญี่ปุ่น บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นเชิงบวกภาคบริการญี่ปุ่น ไต่ระดับเพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดรอบ 33 ปี ช่วงไตรมาสแรกปีนี้จากการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นและกำไรสูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ทำให้ความคาดหวังของตลาดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ “มีความเป็นไปได้” มากขึ้น

มุมมองเชิงบวกอาจถูกบั่นทอนจากความเชื่อมั่นของบรรดาผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่ปรับตัวลดลงอย่างหนักเป็นครั้งแรกรอบ 4 ไตรมาส เนื่องจากการหยุดชะงัก (disruption) ของการผลิตรถยนต์ เป็นการเน้นย้ำถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบางของญี่ปุ่น

ผลการสำรวจครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งจากหลายปัจจัยที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะตรวจสอบอย่างละเอียดในการประชุมของ BOJ วันที่ 25-26 เม.ย.นี้

โดย BOJ จะเปิดเผยรายงาน GDP ไตรมาส 1/67 ครั้งใหม่และรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อด้วย

การประมาณการเดือนเม.ย.นี้ จะดึงดูดความสนใจจากตลาดเพื่อเฝ้าดูสัญญาณใด ๆ ก็ตามต่อการที่ BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งได้เร็วแค่ไหน หลังจากยุติโครงการกระตุ้นทางการเงินครั้งใหญ่มากเป็นพิเศษช่วงเดือนที่ผ่านมา

Tsuyoshi Ueno นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย NLI ระบุว่า “ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจภาพรวมยังดี และแผนการใช้จ่ายของเงินลงทุนค่อนข้างแข็งแกร่ง” ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของญี่ปุ่น น่าจะเป็นไปได้มากว่าจะให้ความหวังกับ BOJ ว่าจะเห็นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลสำรวจดังกล่าวเปิดโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทั่วไปบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ ปรับลดลงสู่ +11 จุดช่วงเดือนมี.ค. 67 จากเดิมอยู่ที่ +13 จุดช่วงเดือนธ.ค.ปี 2566 เนื่องจากปัญหาการหยุดชะงักอันเกิดขึ้นกับบางส่วนของโรงงานกลุ่มบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ 

ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมรถยนต์, ชิ้นส่วนรถยนต์และผู้ผลิตเหล็ก ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะออกมาที่ +10 จุด

แต่ผลสำรวจ ระบุว่า ดัชนีที่ชี้วัดความเชื่อมั่นภาคบริการบริษัทขนาดใหญ่ ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ +34 จุด ช่วงเดือนมี.ค. จากเดิม +32 จุด เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่คาดการณ์ของตลาดเล็กน้อยว่าจะออกมา +33 จุด และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็น 8 ไตรมาส ติดต่อกัน เป็นตัวเลขสูงสุด นับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2534 เมื่อตอนที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญรุ่งเรืองจากฟองสบู่สินทรัพย์ที่ขยายตัวสูงผิดปกติ

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ระบุว่า ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ในภาคการค้าปลีก บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทก่อสร้าง และผู้ให้บริการการขนส่งคมนาคม เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของภาคการท่องเที่ยวขาเข้าและการส่งเสริมกำไรบริษัท จากการปรับราคาสินค้าและบริการ

บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเตรียมเพิ่มการใช้จ่ายเงินลงทุนอีก 4% ในปีงบประมาณที่เริ่มต้นเดือนเม.ย. 67 หลังจากเพิ่มสูงขึ้น 11.5% ช่วงปีก่อนหน้า

ขณะที่ดัชนีชี้วัดความตึงตัวของตลาดแรงงาน แสดงให้เห็นถึงบริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเพิ่มโอกาสที่การปรับขึ้นค่าจ้างจะเกิดในวงกว้างมากขึ้น บริษัทหลายแห่งประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น จะอยู่สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% ช่วงอีก 1 ปี, 3 ปีและ 5 ปีข้างหน้า

Atsushi Takeda หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจอิโตชู (Itochu) กล่าวว่า ดัชนีการจ้างงานยืนยันถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวและความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อบริษัทเอกชนยังคงสูง ทำให้ BOJ น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งช่วงปีนี้หรืออาจ 2 ครั้งก็เป็นได้..!!??

Back to top button