ค่าไฟฟ้ามหาโหด

คมกฤช เลขา กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 มีมติเห็นชอบค่า Ft เรียกเก็บในงวด พ.ค.-ส.ค.67 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย


นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อต้นสัปดาห์นี้มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 67 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

สำนักงาน กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีงวดใหม่ตั้งแต่วันที่ 8-22 มี.ค. 67 โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นทั้งสิ้น 147 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ. เสนอรวมทั้งสิ้น 61 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 50 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 36 ความเห็น

นายคมกฤช ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงสำนักงาน กกพ. จึงขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน

รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่าย ๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้าและยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย

คำแถลงของเลขาฯ กกพ.ดังกล่าวถือเป็นการปัดสวะและโยนความผิดให้กับผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ยอมรับว่าปัญหาค่าไฟฟ้ามหาโหดที่เพิ่มขึ้นถึง 6.5 เท่านับจากกลางปีก่อนนั้นมาจากความล้มเหลวของนโยบายรัฐใน 3 ประเด็นหลักนั่นคือ 1) ความล้มเหลวของการส่งเสริมนโยบายการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานปิโตรเลียม  2) การใช้โครงสร้างเรียกเก็บค่าไฟฟ้าราคาเดียว 3) การให้กฟผ. กฟภ. และกฟน. ผูกขาดเก็บค่าบริการตามกฎหมาย

ความล้มเหลวของการส่งเสริมนโยบายการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานปิโตรเลียมเกิดจากการอุดหนุนผู้ผลิตไฟฟ้าทางเลือกที่ขยักขย่อนโดยเฉพาะพลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์  และพลังงานลม  ที่มีการลดค่าแอดเดอร์ซึ่งเป็นเงินที่รัฐใช้สนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนทำการผลิตเร็วกว่ากำหนดจนเอกชนไม่มีแรงจูงใจที่จะทำการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าทางเลือกดังกล่าว ทำให้รัฐต้องหันกลับมาพึ่งพาโรงงานที่ใช้พลังงานจากปิโตรเลียมเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้ทำให้กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงมีแค่กลุ่มกัลฟ์ อิเลกทริก (GULF) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่สุดของประเทศ

การที่โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานปิโตรเลียมทำให้ตัวเลขนำเข้า LNG เพื่อป้อนโรงงานปิโตรเลียมมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก การพึ่งพา LNG จากต่างประเทศเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบและแก๊สปรับตัวขึ้นและผลักดันให้ค่า Ft เพิ่มขึ้นอย่างมาก

แม้รัฐบาลจะอ้างว่าได้ทำการปรับเปลี่ยนนโยบายมาอุดหนุนหรือเพิ่มค่าแอดเดอร์ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกก็สายเกินไปแล้ว

ในขณะเดียวกันนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานที่ถูกที่สุดก็ยังคงถูกพวก NGO ต่อต้านอย่างรุนแรงทำให้รัฐบาลมีทางเลือกน้อยลง

ส่วนการใช้โครงสร้างเรียกเก็บค่าไฟฟ้าราคาเดียวซึ่งเป็นระบบที่เลิกใช้กันมานานแล้วในหลายประเทศได้เปลี่ยนมาใช้ระบบเก็บค่าไฟตามจำนวนประชากร ก็ยังไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะทำ

การเก็บค่าไฟฟ้าแบบราคาเดียวเท่ากันหมดทั้งประเทศคือระบบ Single pool ทำให้ดูเหมือนว่ามีความเสมอภาคกัน  ในประเทศที่ก้าวหน้านั้นถือว่าเป็นระบบที่ล้าสมัยเพราะทำให้เศรษฐกิจเมืองใหญ่ที่มีชุมชนหนาแน่นต้องใช้ราคาไฟฟ้าเดียวกับเขตที่มีชุมชนเบาบางที่มีต้นทุนของการเดินสายไฟฟ้าและค่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างราคาแบบ Smart Grid ของกทม. ต้องถูกกว่าตำบลในเขตชนบทซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสียเงินค่าชดเชยต่ำลงและเร่งให้เกิดการลงทุนผลิตโรงงานไฟฟ้าในเขตชนบทมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของระบบ Single Pool คือภาคใต้ของไทยที่มีโรงไฟฟ้าไม่เพียงพอต้องพึ่งพลังงานไฟฟ้าจากส่วนกลางที่ส่งออกไปเนื่องจากแรงต่อต้านของประชาชนที่มีต่อโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและแก๊สมีอยู่สูงมาก  ทั้ง ๆ ที่ระบบ Single Pool จะทำให้คนภาคใต้ใช้ไฟฟ้าในราคาต่ำเกินจริงมาก

การให้กฟผ. กฟภ. และกฟน. ผูกขาดเก็บค่าบริการตามกฎหมาย นับเป็นการผูกขาดตัดตอนการแข่งขันจากเอกชน ซึ่งมีข้อกำหนดไว้ว่าให้ กฟผ.รับซื้อจากผู้ผลิตแบบผูกขาดรายเดียว  แล้วกระจายผลประโยชน์ให้ กฟภ. และ กฟน. ผูกขาดการเก็บค่าไฟฟ้าทั่วประเทศ จนกระทั่งองค์กรทั้งสามนี้มีกำไรสูงสามารถการจ่ายโบนัสให้พนักงานสูงสุดต่อเนื่องมายาวนานและพนักงานบางส่วนยังคงใช้อำนาจเรียกเก็บเงินจากการติดตั้งและการบริการเข้ากระเป๋าส่วนตัว

ทั้ง 3 ประเด็นนี้ จะเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ความผิดของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าตามที่เลขาฯ กกพ. ได้เอ่ยมา ซึ่งเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน

Back to top button