Q1/67 กลุ่มแบงก์ฟันกำไร 5.7 หมื่นล้าน!
อีกไม่นานนับจากนี้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย หรือกลุ่มแบงก์ จะนำร่องแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2567 กันแล้ว
เส้นทางนักลงทุน
อีกไม่นานนับจากนี้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย หรือกลุ่มแบงก์ จะนำร่องแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2567 กันแล้ว สิ่งที่ต้องจับตามองก็คือ แบงก์ยังต้องแบกรับภาระการตั้งสำรองในระดับสูงอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ (ITD)
“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้สำรวจคาดการณ์ของโบรกเกอร์จำนวน 3 ราย ถึงมุมมองที่มีต่อผลประกอบการในไตรมาส 1 ที่จะทยอยประกาศออกมานี้ พบส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะอ่อนแอลง
- Q1/67 แบงก์กำไร
โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุว่า กำไรกลุ่มแบงก์ (7 แห่ง) จะปรับตัวดีขึ้นในสภาวะที่ไม่มีการตั้งสำรองพิเศษ คาดรายงานกำไรสุทธิรวม 5.71 หมื่นล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาส 4 ปี 2566
กำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปีก่อน เพราะฐานต่ำ หลายแบงก์ตั้งสำรองสูงจากกรณี ITD และคาด NIM จะอ่อนแอลง เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้ โดยจะค่อย ๆ ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสิ้นสุดวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงจะคงที่
แต่ต้นทุนเงินทุนจะเพิ่มขึ้น เพราะมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ซึ่งมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของฐานเงินฝากทั้งหมด ทั้งนี้มอง NIM ในกลุ่มแบงก์จะลดลง 0.5% ในปีนี้ ขณะที่สินเชื่อจะยังคงอ่อนแอ 1.2% จากปีก่อน ดังนั้นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) อาจลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบนี้
ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังกดดัน ทำให้ต้นทุนทางการเงิน หรือ credit cost ยังคงอยู่ในระดับสูงจาก 1.92% เป็น 1.60% ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เมื่อมาตรการให้ความช่วยเหลือจากธปท.ได้สิ้นสุดลง และมีมาตรการกำกับใหม่เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง ส่วนคุณภาพสินทรัพย์อาจเสื่อมถอยลง แม้จะเล็กน้อยก็ตาม
องค์ประกอบอื่น ๆ ยังคงอ่อนแอ หรือฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) รวมจะหดตัว 3% จากปีก่อน แต่รายได้ค่าธรรมเนียมจะไม่ฟื้นตัวมากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ ส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (Opex) จะลดลงจากระดับที่สูงตามฤดูกาลในไตรมาส 4 ปีก่อน แต่ยังสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและค่าใช้จ่ายบุคลากร
มุมมองนี้สอดคล้องกับบล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินกำไรแบงก์ (7 แห่ง) จะฟื้นตัวเป็น 5 หมื่นล้านบาท เติบโต 19% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ตามผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) และค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานลดลง แต่กังวลคุณภาพสินทรัพย์ เพราะ NPL ใหม่เพิ่มต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนมากจากกลุ่มสินเชื่อขนาดกลาง (SME) และรายย่อย
แบงก์ส่วนใหญ่ใช้มาตรการเชิงรุกและจัดสรรต้นทุนด้านเครดิตเพียงพอตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน และกรณี ITD เจ้าหนี้รายใหญ่ได้กันเงินสำรองพิเศษไว้แล้ว และจัดประเภทใหม่เป็นสินเชื่อระยะที่ 2 แต่ NPL ratio จะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสนี้ เป็น 3.61% ขณะที่ต้นทุนด้านเครดิตลดลงเหลือ 1.57% จาก 1.78% ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา
ด้านบล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คาดกำไรกลุ่มฯ ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 3% จากปีก่อน เพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น และเติบโต 21% จากไตรมาสก่อน จากสำรองลดลง และค่าใช้จ่ายลดตามฤดูกาล ส่วนสินเชื่อจะทรงตัวจากปีก่อน
กลุ่มแบงก์ยังได้รับผลบวกจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นสูง ผลจาก NIM ปรับเพิ่มขึ้น รับอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงก่อนหน้า แต่ถูกลดทอนด้วยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ยังลดลง และค่าใช้จ่ายดำเนินงานยังสูงจากการลงทุนด้าน IT เป็นหลัก
- ปี 67 กำไร 1.94 แสนล้าน
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินกำไรทั้งปี 2567 อยู่ที่ 1.94 แสนล้านบาท ลดลง 0.4% จากปี 2566 สาเหตุมาจากฐานขนาดใหญ่ และผลกระทบเชิงบวกน้อยลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้แบงก์ต่าง ๆ มีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับต่ำเพียงหลักเดียว และรักษา ECL และต้นทุนเครดิตยังอยู่ในระดับสูง หากมองไปอีก 2 ปีข้างหน้า คาดปี 2568-2569 กำไรสุทธิจะเติบโตที่ 5% ต่อปี ตามสมมติฐานเชิงอนุรักษนิยม การเติบโตของสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียม
- คัดหุ้นเด่นกลุ่มแบงก์
บล.ทิสโก้ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TTB ราคาเหมาะสม 2.50 บาท, KKP 60 บาท, BBL 168 บาท และ SCB 122 บาท ในขณะที่แบงก์อื่น ๆ แนะนำ “ถือ” BAY 30 บาท, KBANK 140 บาท และ KTB 18 บาท
ส่วนบล.ฟินันเซีย ไซรัส เลือก TTB เป็น Top Pick ให้ราคาเป้าหมาย 2.19 บาท และ KTB ให้ราคาเป้าหมาย 19.90 บาท หลังตั้งสำรอง ITD 100% แล้ว
และบล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เลือก BBL ให้ราคาเป้าหมาย 190 บาท, KTB 22.70 บาท และ KBANK 150 บาท เป็น Top Picks ของกลุ่มฯ
จากผลสำรวจกำไรสุทธิกลุ่มแบงก์ก็น่าจะอยู่ราว ๆ 5.0-5.7 หมื่นล้านบาท สำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2567 นี้