QTCG ‘ยศวีย์’ ติดบ่วงไซเลนต์.!?
ช่วงก่อนสงกรานต์มี 4 หุ้นน้องใหม่ ควงแขนกันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเดิมตัวแรก APO ถัดมาเป็น BPS ตามมาด้วย QTCG และปิดท้ายที่ NEO
ช่วงก่อนสงกรานต์มี 4 หุ้นน้องใหม่ ควงแขนกันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเดิมตัวแรก บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO (เข้า 2 เม.ย.) ถัดมาเป็นบริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ BPS (เข้า 3 เม.ย.) ตามมาด้วย บริษัท คิวทีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ QTCG (เข้า 4 เม.ย.) และปิดท้ายที่บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO (เข้า 9 เม.ย.)
ก็น่าสนใจ โดยเฉพาะการเปิดเทรดทุกตัวทำได้ดีหมด แต่ไฮไลต์อยู่ที่ QTCG ซึ่งเปิดเทรดแรงกว่าชาวบ้านชาวช่อง พุ่งไป 81.67% อยู่ที่ 2.18 บาท จากนั้นถูกดันไปแตะที่ 2.28 บาท แต่ช่วงท้ายตลาดถูกทุบลงมาจนปิดเทรดที่ 0.95 บาท ต่ำจอง 20.83% จากราคาไอพีโอ 1.20 บาท
เลยเป็นที่มาเปิดกระโดด…แต่ปิดดับนั่นเอง..!! และจวบจนถึงปัจจุบัน QTCG ก็ยังโงหัวไม่ขึ้น…ไม่พ้นจองเสียที.!??
จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกตั้งคำถามถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ของ QTCG เนื่องจากมีไม้ใหญ่ ๆ ขายออกมาของวันที่สองที่เข้าเทรดซ้ำเติมมาอีก…
สุดท้ายถึงบางอ้อ…หนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้ QTCG เป็นหุ้นต่ำจองเรื้อรัง เพราะมีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 นามว่า “ยศวีย์ วัฒนธีระกิจจา” หรือที่คนในแวดวงตลาดทุนรู้จักกันดีในฉายา “ยศ24CS” เพราะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ทเวนตี้ โฟร์ คอน แอนด์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ 24CS และเป็นซีอีโอ 24CS ได้เทขายหุ้น QTCG ออกมาล็อตใหญ่ในวันที่ 5 เม.ย. 2567 จำนวน 35.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.9166%
ส่งผลให้เหลือถือหุ้น 6.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.0833% จากเดิมถืออยู่ที่ 42 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.00%
การขายของ “ยศวีย์” ไม่ได้เป็นการขายหุ้นที่ได้รับการจัดสรรไอพีโอ เพราะไปแสกนดูรายชื่อบุคคลที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโอ QTCG ไม่มีชื่อของ “ยศวีย์” แต่อย่างใด
นั่นแปลว่า “ยศวีย์” อยู่ในข่ายของผู้ถือหุ้นเดิม ได้หุ้น QTCG ก่อนจะเข้าตลาดฯ ทำให้มีต้นทุนอยู่ที่ราคาพาร์ 0.50 บาท…งั้นไม่ว่า “ยศวีย์” จะขายที่ราคาไหน..? ก็มีกำไรทั้งน้าน
ถ้าไปดูราคาหุ้น QTCG ในวันที่ 5 เม.ย. ซึ่งปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 1 บาท และต่ำสุดที่ 0.86 บาท…ติ๊ต่างว่า “ยศวีย์” ขายที่ราคาต่ำสุด ก็ฟันกำไรไป 12.78 ล้านบาท แต่หากขายที่ราคาสูงสุด จะฟันกำไรไปราว 17.75 ล้านบาทเชียวหนา
โอเค…พักเรื่องตัวเลขกำไรไว้แค่นั้นก่อน เพราะมีอีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน..!?
ว่าด้วยเรื่องการขายหุ้นของ “ยศวีย์” ขายออกมาได้ยังไง..? จะขัดกับเงื่อนไขไซเลนต์พีเรียดหรือเปล่า..?? อันนี้ก็น่าคิด
จากการไปค้นข้อมูลในไฟลิ่ง ไม่ว่าจะตีลังกาอ่านยังไง..?? ก็ไม่สามารถทำได้นะ ในทางกลับกัน มีการล็อกอัพหุ้นที่ติดไซเลนต์พีเรียดไว้รวม 55% ของทุนชำระแล้ว เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือขายได้ในสัดส่วนไม่เกิน 25% ของหุ้นทั้งหมดที่ถูกล็อกอัพไว้เมื่อครบ 6 เดือน
ตรงนี้ “ยศวีย์” อาจเถียงว่าตนเองไม่ใช่กรรมการหรือผู้บริหาร แต่จะไปขัดกับการถือหุ้นมากกว่า 5.00% (“ยศวีย์” ถือหุ้น 7%) ซึ่งถูกล็อกอัพไว้หรือเปล่า..??
จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้นครั้งนี้จะเข้าข่ายผิดเกณฑ์ไซเลนต์พีเรียดป๊ะเนี่ย..?
เนื่องจากในไฟลิ่ง ระบุชัด ผู้เข้าข่าย Strategic Shareholders ห้ามขายหุ้นเป็นระยะเวลา 1 ปี จะประกอบด้วย กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง, ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 5.00 ของทุนชำระแล้ว รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง, ผู้มีอำนาจควบคุม นะจิบอกให้…
ซึ่งดูแล้ว “ยศวีย์” จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 5.00%…ถ้าดูตามนี้ยังไม่เห็นช่องทางที่ “ยศวีย์” จะขายหุ้นได้นะ
ว่าไปแล้วเบื้องหลัง “ยศวีย์” ก็ไม่ธรรมดา ในแวดวงตลาดหุ้นเค้าเมาท์ให้แซ่ดว่า ก่อนหน้านี้ไปเกี่ยวข้องกับหุ้นไอพีโอหลาย ๆ ตัว ซึ่งจบไม่สวยสักตัว…แต่อันนี้ได้ยินเค้าเมาท์กันนะ…แค่เอามาเล่าสู่กันฟังก็เท่านั้น…
เอาเป็นว่า จะขัดหรือไม่ขัดกับเกณฑ์ไซเลนต์พีเรียด ต้องไปดูตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะว่ายังไง..??
ที่แน่ ๆ “กลุ่มเงินนำโชคธนรัตน์” ผู้ถือหุ้นใหญ่ตัวจริงล่ะว่ายังไง..??
…อิ อิ อิ…