ดับฝันหุ้นไฟแนนซ์ (ชั่วคราว)
แม้ถูกกดดันจากฝั่งรัฐบาล แต่สุดท้ายมติกนง. เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
แม้ถูกกดดันจากฝั่งรัฐบาล แต่สุดท้ายมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เสียงส่วนใหญ่ 5 เสียง เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
จึงเห็นควรให้ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจระยะข้างหน้า
ส่วนคณะกรรมการเสียงส่วนน้อย 2 เสียงเห็นว่า “ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี” เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างชัดเจนขึ้นและมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวแบบชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ภาพรวมมีการขยายตัวแต่ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อย อาจต้องเผชิญภาวะการเงินตึงตัว เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างการเข้าถึงสินเชื่อมาต่อเนื่อง
จากมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% แต่มติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายต่อ 2 เสียงให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยที่ประชุมกนง. มองเศรษฐกิจไทยเชิงบวกและมองมีอัพไซด์ต่อ GDP
แต่มิได้ปิดกั้นเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากมีข้อมูลเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ผสานกับมุมมองเงินเฟ้อปี 2568-2569 ของกนง.ประเมินเงินเฟ้อต่ำสะท้อนการเปิดช่องหรือเปิดโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยไทยระยะต่อไปได้
ทำให้มีการประเมินกันว่า..โอกาสการลดดอกเบี้ยครั้งแรกช่วงเดือนมิ.ย. 67 ประมาณ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.25%
โดยเงินเฟ้อไทยทั่วไปปี 2568 อยู่ที่ระดับ 0.6% ส่วนปี 2567 อยู่ที่ระดับ 1.3% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2568 อยู่ที่ 0.6% และปี 2569 อยู่ที่ 0.9%
ในปี 2568 กนง.คงมุมมองเงินเฟ้อไทยช่วงถัดไปมีทิศทางเข้าสู่กรอบเป้าหมายช่วง 1-3% มีการประเมินกันว่าด้วยเงินเฟ้อที่ต่ำ สะท้อนการเปิดช่องหรือเปิดโอกาสปรับลดดอกเบี้ยไทยในอนาคตได้
อีกเหตุผลสนับสนุนการลดดอกเบี้ยนโยบายคือภาพอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยเป็นบวกต่อเนื่อง 12 เดือน
ด้านเศรษฐกิจ• เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตจาก 3 ส่วนคือ 1) การบริโภคคาดขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพในอดีต แต่มองเป็นภาพ K-Shape คือกลุ่มรายได้ปานกลาง-สูง ยังเป็นกลุ่มหลักที่ดี แต่กลุ่มรายได้ระดับล่างยังไม่ฟื้น..!!
2) ภาคท่องเที่ยวโดยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2567 ประเมินว่าอยู่ที่ 35.5 ล้านคน โดยหลักมาจากนักท่องเที่ยวจีน 3) ส่งออก จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยดีมานด์จากต่างประเทศ
จากความชัดเจนของกนง.ในเชิงกลยุทธ์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินว่าจะหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารที่ถูกขายลดความเสี่ยงก่อนหน้านี้ให้มีโอกาสรีบาวด์รอบสั้น เน้นน้ำหนักไปที่หุ้น KTB และ TTB
ตามด้วยกลุ่มท่องเที่ยว เน้นน้ำหนักที่หุ้น AOT และกลุ่มอิงการบริโภค เน้นไปที่ CPALL-CPAXT และ BJC กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาครัฐคือหุ้น BE8
สำหรับภาพระยะกลางทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เป็นปลายทางหรือขาลง ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อหุ้นไฟแนนซ์ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง
จึงมองเป็นจังหวะน่าสนใจหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ เน้นน้ำหนักที่หุ้น JMT-MTC และกลุ่มหนี้สูง เน้นน้ำหนักที่หุ้น MINT เพราะการ “คงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพียง “ฝันร้ายชั่วคราว” เท่านั้น..!!!