แบงก์ ย่อซื้อ ขึ้นขาย
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ แม้จะปิดบวกได้ 3.64 จุด และบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 แต่หากเทียบกับประเทศในภูมิภาค ถือว่ายังขึ้นอย่างเชื่องช้า
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (24 เม.ย.) แม้จะปิดบวกได้ 3.64 จุด
และบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน
แต่หากเทียบกับประเทศในภูมิภาค ถือว่ายังขึ้นอย่างเชื่องช้า ท่ามกลางวอลุ่มเทรดเพียง 3.85 หมื่นล้านบาท
ส่วนต่างชาติ หลังจากซื้อมาสองวันติดต่อกัน
วานนี้กลับมาขายสุทธิ 456 ล้านบาท
ประเด็นปัญหาของตลาดหุ้นไทยที่ลงเร็ว และขึ้นช้า จึงยังคงเป็นปัญหาอยู่ต่อไป
หากจะถามว่า ปัจจัยกดดันหลัก ๆ มาจากอะไร
อย่างที่เคยบอกหลายครั้งแล้วว่า ภาพรวมนั้นน่าจะมาจากเรื่อง “ความเชื่อมั่น” ทั้งเรื่องของการเมือง การเติบโตของจีดีพีที่ต่ำนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ค่าเงินบาทผันผวน ฯลฯ
ประเด็นปัจจัยกดดันเหล่านี้แก้ไม่ได้สักที
คงต้องโทษทั้งภาครัฐ และรวมถึงตลาหลักทรัพย์ฯ ด้วยนั่นแหละ
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับโปรแกรมเทรด และชอร์ตเซล จะยังเกี่ยวด้วยหรือเปล่านั้น
คำตอบคือ น่าจะมีส่วนกดดันอยู่ด้วย
และคงต้องรอความชัดเจนจากตลาดหลักทรัพย์ ถึงการเข้าควบคุม การกำกับแบบมีประสิทธิภาพ
มาดูหุ้นในกลุ่มน่าสนใจและถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง
นั่นคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์
สังเกตกันไหมว่า เวลาตลาดผันผวน หันซ้าย หันขวา ไม่รู้เข้าหุ้นตัวไหนกันดี
มักจะมีคำแนะนำถึงหุ้นกลุ่มธนาคารอยู่บ่อยครั้ง
เพราะสำหรับตลาดหุ้นไทย โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ยังพึ่งพาระบบธนาคารอยู่อย่างมาก
เป็นตัวขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ หรือแทบจะทุกเรื่อง
ล่าสุด “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหารแบงก์ใหญ่ 4 แห่งเข้าหารือ เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยช่วยกลุ่มเปราะบาง
ทันทีที่มีข่าวประเด็นนี้
หุ้นธนาคารฯ ราคาซึมลงเล็กน้อย หลังจากเพิ่งจะรับข่าวดีเกี่ยวกับงบการเงินไตรมาส 1/2567 ที่หลายแบงก์กำไรออกมาดี และบางแห่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดกันไว้ เช่น KBANK และ TTB
ราคาหุ้นแบงก์ที่ซึมลงมาเล็กน้อย
มีคำแนะนำให้เข้าสะสม หรือเป็นจังหวะที่ดี
ด้วยเหตุผลว่า หากแบงก์ยอมรับ ด้วยการกดดอกเบี้ยลงมา
แต่ไม่น่าจะไปกระทบกับส่วนต่างดอกเบี้ย Net Interest Margin หรือ NIM มากนัก
เพราะปัจจุบันลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือระยะยาวของธนาคารอยู่แล้ว
หากมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมจะเป็นการพิจารณาในบางรายมากกว่า
เพราะการช่วยเหลือแบบหว่านแหอาจก่อให้เกิดปัญหาด้าน “วินัยทางการเงิน” ได้
ขณะที่ประเด็นเรื่องตัวเลข NIM นี้
นักลงทุนต่างรับรู้ หรือราคาหุ้นตอบรับถึงปัจจัยนี้ไปค่อนข้างมากแล้ว จากที่ประเมินกันว่าแบงก์ชาติน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2567 ลงมาประมาณ 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%)
ราคาหุ้นแบงก์ที่ปรับลง ต้องดูสัญญาณเทคนิค แล้วหาจังหวะเข้ารับซื้อ
เพราะกลุ่มแบงก์จะว่าไปแล้ว หากใครเทรดประจำ
จะทราบถึงแท็กติคว่า ลง (แนวรับ) เข้าซื้อ
และขายเมื่อใกล้ถึง หรือบริเวณแนวต้าน
ธนะชัย ณ นคร