น้ำลดตอผุดพลวัต 2016
แม้จะดูวนเวียนซ้ำซาก เสมือนพายเรือในอ่าง แต่เราคงต้องติดตาม เรียนรู้ และพูดถึงการบริหารจังหวะพักฐานของเศรษฐกิจจีนกันต่อไป จนกว่าช่วงเวลาอันผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกยามนี้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าว ผู้บริหารของเฟดฯในสหรัฐฯจะบอกว่าไม่ได้สะเทือนถึงเศรษฐกิจพื้นฐานหรือนโยบายเฟดฯเลยก็ตาม
วิษณุ โชลิตกุล
แม้จะดูวนเวียนซ้ำซาก เสมือนพายเรือในอ่าง แต่เราคงต้องติดตาม เรียนรู้ และพูดถึงการบริหารจังหวะพักฐานของเศรษฐกิจจีนกันต่อไป จนกว่าช่วงเวลาอันผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกยามนี้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าว ผู้บริหารของเฟดฯในสหรัฐฯจะบอกว่าไม่ได้สะเทือนถึงเศรษฐกิจพื้นฐานหรือนโยบายเฟดฯเลยก็ตาม
ล่าสุดจีนเริ่มตีโต้กลับความเสื่อมศรัทธาของนักลงทุนต่อค่าหยวน ด้วยการใช้ฮ่องกงซึ่งเป็นตลาดออฟชอร์ที่จีนใช้เป็นสถานที่ส่งสัญญาณทางด้านพฤติกรรมได้สะดวกกว่า เป็นสถานที่ทดลองแนวทางใหม่ด้วยการใช้ดอลลาร์สหรัฐเข้าซื้อหยวนกลับคืนจากตลาดเงิน ดันค่าหยวนต่อดอลลาร์ให้กลับมามีเสถียรภาพชั่วคราว ที่ส่งผลจิตวิทยาระยะสั้นต่อตลาดหุ้นเอเชีย และโลก ในยามที่ราคาน้ำมันร่วงหนักต่อเนื่อง
การเข้าซื้อหยวนในตลาดออฟชอร์จำนวนมาก ช่วยสกัดแรงขายของกองทุนเก็งกำไรค่าเงินชั่วคราว ทำให้ราคาหุ้นในตลาดทั่วโลกดีขึ้นชั่วคราว และมีการรีบาวด์กลับของตลาด แต่ไม่อาจปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่าต้นทุนของการรักษาเสถียรภาพเงินหยวน รวมทั้งตลาดหุ้นจีน สูงพอสมควรทีเดียว
ที่สำคัญ อาจหมายถึงความสูญเปล่าได้ หากว่าเกิดไม่ได้ผลในบั้นปลาย
มีตัวเลขเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในปี 2558 แบงก์ชาติจีนล้างผลาญทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไปแล้ว 0.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 13% ของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ (ในจำนวนนี้รวมทั้งเงิน 0.4 ล้านล้านดอลลาร์ที่พยุงหุ้นด้วย แสดงว่าใช้เงินรักษาค่าหยวนไป 0.1 ล้านล้านดอลลาร์) ซึ่งเทียบแล้วเท่ากับทุนสำรองเงินตราทั้งหมดของสวิตเซอร์แลนด์ทีเดียว
การล้างผลาญทุนสำรองดังกล่าวยังไม่จบสิ้น เพราะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่า 2 เรื่อง คือ 1)การไหลออกของทุนจากประชาชนที่มีเงินออมไปต่างประเทศ ภาคธุรกิจที่ต้องการทำแคร์รี่เทรดย้อนศร จากการแข็งค่าดอลลาร์ในอนาคต และกองทุนเก็งกำไรที่ถอนตัวจากตลาดหุ้นจีน 2) ปัญหาหนี้สินที่มีโอกาสเป็นหนี้เน่าหรือ NPLs จำนวนมหาศาลทั้งในระบบการเงินและในตลาดทุนจากการเสื่อมถอยของสินทรัพย์
ในเรื่องการไหลออกของทุนนั้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขทางการระบุว่าน่าจะตกประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปัญหาหนี้นั้น เนื่องจากจีนยังไม่ได้ใช้กฎการควบคุมสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ หรืออื่นๆ ที่พากันปล่อยเงินกู้ในรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ลูกค้า รวมทั้งธุรกิจโพยก๊วนด้วย กระบวนการก่อหนี้เกินจริงผ่านการตั้งบริษัทตัวแทนจำบังทั้งหลาย เพื่อหากำไรเกินปกติในยามเศรษฐกิจเป็นขาขึ้นยาวนาน ทำให้การซ่อนตัวเลขสุขภาพของลูกหนี้สถาบันการเงินต่ำกว่าจริงมาโดยตลอด โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น
มูลค่าหนี้ทั้งระบบที่เป็นทางการของสถาบันการเงินจีนอยู่ที่ระดับ 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใหญ่กว่ายอดหนี้รวมของสถาบันการเงินในสหรัฐฯถึง 2 เท่าตัว ในช่วงเศรษฐกิจยังเป็นขาขึ้น สัดส่วนของหนี้ที่เกิดจากการฉ้อฉลของระบบสถาบันการเงิน และผู้บริหารกิจการอาจจะไม่ปรากฏชัดเจน แต่ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวปัญหา “น้ำลดตอผุด” ย่อมโผล่ขึ้นมาโดดเด่น โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้กับโครงการที่ไม่สามารถคืนหนี้ได้สารพัดรูปแบบ และการปล่อยเงินกู้ไปซื้อขายหุ้นเพราะผลประโยชน์ทับซ้อน
ในช่วงปี 2557 ความพยายามล้างหนี้และป้องกันฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทำให้เงินที่กองสุมอยู่ในธุรกิจดังกล่าวด้านหนึ่งหายไปหลบซ่อนในต่างประเทศผ่านกระบวนการโพยก๊วน หรือ แคร์รี่เทรดย้อนศร อีกส่วนหนึ่ง เคลื่อนย้ายมาที่ตลาดหุ้น และออกฤทธิ์จนเกิดฟองสบู่ตลาดหุ้นในครึ่งแรกของปี 2558 ที่ดัชนีตลาดเซี่ยงไฮ้วิ่งทะยานขึ้นมากถึง 150% อย่างผิดปกติ ดังที่ทราบกันดี แล้วก็ฟองสบู่แตกทำให้รัฐเข้ามาโอบอุ้ม
เวลานี้ ตลาดหุ้นจีนที่ฟองสบู่แตก และถูกแทรกแซงจนบิดเบี้ยว จนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเริ่มสวนทางกับราคาหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังไม่ฟื้นตัว ตามมาด้วยฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงกำลังจะแตกรอมร่อ โอกาสที่จะเกิดวิกฤตหนี้ของสถาบันการเงินจีนลุกลามเป็นห่วงโซ่ จึงใกล้มาทุกขณะ
ปรากฏการณ์ที่รุมเร้าเช่นนี้ เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จีนกำลังต้องการก้าวข้าม “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” ด้วยการปรับดุลยภาพเศรษฐกิจใหม่ เพราะตระหนักดีว่า โมเดลเศรษฐกิจยุคเติ้งเสี่ยวผิงที่เคยทำให้เศรษฐกิจทะยานไกลนานกว่า 30 ปี เริ่มมีอาการ “เครื่องหลวม” แต่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ยังทำงานขลุกขลัก เพราะขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการ ส่งผลให้เกิดการสั่นคลอนเสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุนที่ต้องการปรับดุลยภาพใหม่เช่นกัน
ประเด็นของจีนคือ การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเศรษฐกิจด้วยการล้างผลาญทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอย่างรวดเร็วนั้น คุ้มค่าหรือไม่ และจะทันการณ์เพื่อรอรอบใหม่ของขาขึ้นทางเศรษฐกิจหรือไม่ เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
สถานการณ์เฉพาะหน้า จีนอาจจะไม่ต้องการให้ค่าหยวนอ่อนเร็วเกินจนกระทั่งแบงก์ชาติญี่ปุ่นหมดความอดกลั้น ลงมือเอาจริงแบบสงครามสั่งสอน ทุ่มเงินออกมา แทรกแซงให้ค่าเงินเยนกลับอ่อนตัวลงไปอีก ซึ่งอาจจะบานปลายเป็นสงครามค่าเงินได้ง่ายมาก
เพียงแต่ว่าทางเลือกของจีนค่อนข้างจำกัด เพราะหากไม่ต้องการที่จะให้ชาวโลกเข้ามาร่วมเฉลี่ยความทุกข์ยากในปัญหาของจีนเอง จีนจะต้องกล้ำกลืนยอมให้เศรษฐกิจภายในประเทศพังทลายระดับหนึ่ง ด้วยต้นทุนมหาศาล เพื่อให้กำลังการผลิตล้นเกินพ้นยุคทำลายตัวเอง ปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงิน และตลาดหุ้นที่มีค่าสูงเกินจริง ปรับพฤติกรรมใหม่ตามลำพัง จีนจะสามารถแบกรับไหวหรือไม่
อีกไม่นานเกินรอ โลกคงจะรู้ และได้รับคำตอบ